สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน – สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ กสทช. เปิดผลการศึกษาผลกระทบควบรวมทรูดีแทคทุกฉบับ เพื่อความโปร่งใส เรียกร้อง กสทช. แสดงจุดยืนให้สังคมมั่นใจในการเป็นองค์กรอิสระที่มีธรรมาภิบาล เปิดข้อมูลให้สาธารณะรับรู้สมเป็นองค์กรกำกับดูแลยุค 5G
วันนี้ (18 ตุลาคม 2565) ศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยเนื้อหาของรายงายที่ปรึกษาต่างประเทศและผลการศึกษาทุกฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการควบรวมกิจการโทรคมนาคม โดยยืนยันว่า กสทช. ต้องปฎิบัติตามกฏหมายในมาตรา 59 (5) ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. ต้องเปิดเผยเนื้อหาของรายงานการศึกษาที่เกิดจากการจัดจ้างต่อสาธารณะ
“ฝากถึง กสทช. ให้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้บริโภค เพราะเป็นองค์กรอิสระที่กำกับดูแลเคลื่อนความถี่ไม่ให้มีการผูกขาดและทำให้ประชาชนมีโอกาสได้เลือกใช้บริการที่หลากหลาย ถ้าอนุญาตให้ควบรวมกิจการจะทำให้ผู้บริโภคไม่มีสิทธิเลือกใช้บริการเจ้าใดเลย ขณะที่บริษัททั้งทรูและดีแทคต้องมีธรรมาภิบาล โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย” ศราวุฒิ กล่าว
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า นัยยะสำคัญของเอกสารของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้เป็นความลับราชการ แต่เป็นงานวิจัยที่ กสทช. ทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นเว็บไซต์อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงต้องเผยแพร่และตีพิมพ์งานวิจัยให้คุ้มค่า สมราคาที่ได้ว่าจ้างไป และในมาตรา 59 (5) ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ระบุชัดเจนว่า กสทช. มีหน้าที่ต้องเปิดเผยเอกสารงานวิจัยทุกฉบับเกี่ยวข้องการศึกษาผลกระทบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งประชาชนทุกคนควรได้ทราบข้อมูลจากงานวิจัยผลกระทบการควบรวมกิจการก่อนวันที่ 20 ตุลาคม ที่จะมีการลงมติอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการทรูดีแทค และต้องทำให้ประชาชนสามารถติดตามการลงมติดังกล่าวด้วย
“จากประสบการณ์ที่เคยทำงานใน กสทช. นั้น แทบทุกครั้งจะมีการนำวาระการประชุมมาเปิดเผยก่อนประชุม หรือที่เรียกว่าจับตาวาระ กสทช. รวมถึงมีการนำข้อมูลบางส่วน รวมทั้งผลงานวิจัยและข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ขึ้นแขวนบนเว็บไซต์เพื่อให้สาธารณะรับรู้ และหลังจากลงมติต้องเปิดเผยอีกทีหนึ่ง เพื่อความโปร่งใส และสิ่งที่สำคัญที่สุดหากเรื่องใดเป็นเรื่องที่ไม่ได้ประทับตรารับ หมายความว่าเป็นเรื่องทั่วไปและเป็นเรื่องที่สามารถเปิดเผยตามกฎหมายได้ แต่หากเรื่องใดเป็นเรื่องลับที่จะกระทบความลับราชการที่ กสทช. แจ้ง สำนักงาน กสทช. จะประทับตรารับมาตั้งแต่แรก” สุภิญญา กล่าว
สุภิญญา กล่าวอีกว่า ส่วนในประเด็นที่มีการแจ้งความผู้บริโภคในเรื่องเอกสารผลการศึกษาหลุดออกมา ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ต้องการให้ กสทช. ออกมาพูดให้สาธารณะสบายใจว่า กสทช. เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ยึดมั่นเรื่องความโปร่งใส มีการเปิดข้อมูลให้เป็นสาธารณะเพื่อประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ (Open Data) ให้สมกับการเป็นองค์กรกำกับดูแลในยุค 5G
“กสทช. ไม่ควรเห็นด้วยในการมีการแจ้งความผู้บริโภคในเรื่องนี้ และอยากเรียกร้องให้ กสทช. ชุดปัจจุบัน ทั้งกรรมการและสำนักงาน กสทช. ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อให้สังคมมั่นใจว่า กสทช. ยังเป็นองค์กรอิสระที่มีธรรมาภิบาลสมกับรางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับในรอบหลายปีที่ผ่านมา” สุภิญญา ระบุ
สุดท้าย ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้กล่าวถึงมาตรการ 14 ข้อที่หลุดออกมาว่า ถ้าหากเป็นเอกสารหลุดออกมาจริง ๆ อาจแสดงว่ามาตรการดังกล่าวนั้น กสทช. ยังไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์กับสาธารณะใช่หรือไม่ หากยังไม่เคยทำประชาพิจารณ์ กสทช. จะตัดสินหรือลงมติได้อย่างไร เพราะกฎหมาย กสทช. ระบุไว้ว่า ไม่ว่าเรื่องใดที่มีผลกระทบกับประชาชนและสาธารณะ ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing)
“สิ่งใดที่มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วไม่ควรเป็นเอกสารหลุด ถ้าเป็นเอกสารหลุดแสดงว่ายังไม่ได้รับฟังความคิดเห็น ถ้าไม่ได้รับฟังความคิดเห็นแล้วจะมีการพิจารณาลงมติได้อย่างไร” ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคอยากให้ กสทช. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทค ที่ผ่านมาจะเห็นว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่นำโดยอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการและพรรคการเมืองต่างลุกขึ้นมาคัดค้านการควบรวมนี้และทำข้อเสนอถึงประธานและกรรมการ กสทช. ทุกคณะ โดยเฉพาะประธานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเห็นว่าการควบรวมกิจการจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก
โดยจากผลการศึกษาต่าง ๆ ทั้งการศึกษาของอนุฯ ทั้ง 4 คณะที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้น งานวิจัยของที่ปรึกษาต่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นักวิชาการอิสระจาก 101PUB รวมถึงงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การควบรวมของทรูและดีแทคจะทำให้ผู้ให้บริการค่ายมือถือเหลือเพียงสองราย ในอนาคตอาจเกิดการฮั้วกัน และสุดท้ายอาจเกิดการผูกขาด ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระต้องควักเงินจากกระเป๋าของตัวเองเพื่อจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 244.5 อีกทั้งงานวิจัยของที่ปรึกษาต่างประเทศ ระบุว่า การควบรวมกิจการของทรูและดีแทคจะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งในต่างจังหวัดและคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลถูกทอดทิ้ง รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมืองจะต้องเสียค่าบริการสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิและลดทางเลือกในการเลือกใช้บริการทรัพยากรสาธารณะของผู้บริโภคอย่างชัดเจน
สารี กล่าวอีกว่า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศที่มีเนื้อหาระบุว่า ‘…การลงทุนกิจการโทรคมนาคมในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลจะไม่เกิดขึ้น ทำให้คนที่มีรายได้น้อยหรือคนชายขอบไม่สามารถเข้าถึงบริการสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่จำเป็น…’ รวมถึงการให้ข้อมูลเรื่อง 14 มาตรการที่ กสทช. จะใช้เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคเพื่อลดการผูกขาด ยืนยันว่า การให้ข้อมูลเป็นไปเป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ ซึ่งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการตัดสินใจเลือกสินค้าหรือบริการ เป็นการทำตามมาตรา 14 ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ถ้าหากเป็นการเปิดเผยข้อมูลหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดเป็นไปโดยสุจริต สภาองค์กรของผู้บริโภคจะไม่มีความผิดตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กสทช. ยังไม่เคยเปิดเผยรายงานการศึกษาวิจัยผลกระทบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมออกมาให้สาธารณะรับรู้สักชิ้น ตามมาตรา 59 (5) ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. ต้องเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยและผลงานอื่น ๆ ที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการเลย