ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 11/2566 วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมี กมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างหลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขอรับฟังความเห็นสองเรื่อง
เรื่องแรกคือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Title loan) จากความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) โดยหลักเกณฑ์นี้เป็นการปรับปรุงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.12/2563 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ในส่วนของการกำหนดวงเงินให้สินเชื่อสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Title loan) ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยให้แก้ไข “ข้อ 5.4.2 (2) สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดวงเงินสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแก่ผู้บริโภคที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้”
เรื่องที่สองคือ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment fee) ซึ่งรองรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศออกมา จึงปรับปรุงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ฉบับ คือ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ในส่วนของการกำหนดวงเงินให้สินเชื่อสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ โดยทั้งสองฉบับกำหนดเพิ่มเติมข้อความ ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใด ๆ สำหรับกรณีผู้บริโภคไถ่ถอนหรือชำระคืนสินเชื่อก่อนครบกำหนดทั้งจำนวนหรือบางส่วน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมผู้บริโภคในวินัยทางการเงินที่ดี มีต้นทุนในการบริหารจัดการภาระหนี้ที่ลดลง และมีทางเลือกในการรีไฟแนนซ์ (refinance) ได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้หลักเกณฑ์การเรียกเก็บ (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อรายย่อยทุกประเภทอยู่บนกรอบหลักการเดียวกัน และสอดคล้องกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง