ครม. ต้องไม่เดินหน้ารับ CPTPP เข้าเป็นวาระประชุม เพราะข้อตกลงนี้ไม่ชอบธรรมในการพิจารณาผลได้ผลเสีย เมื่อรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมที่จะศึกษาผลกระทบด้านบวกและลบ หลังเซ็นสัญญา จึงทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ต้องขอให้คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ศึกษาผลกระทบ หากไทยเข้าร่วมตกลงการค้าเสรี
26 กรกฎาคม 2565 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า สอบ. ส่งหนังสือย้ำเตือนเพื่อขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (เลขาฯ ครม.) ไม่รับมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่จะเสนอ ครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยยื่นแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership : CPTPP) เข้าเป็นวาระประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ หรือการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป
จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง หรือหมายถึงจนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจะวิจัยออกมาเสร็จสิ้น รวมถึงการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันที ทั้งนี้ หากพบข้อมูลผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น สอบ. ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดเข้าร่วมเจรจากับความตกลง CPTPP ทันที
สารี กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา สอบ. เคยส่งหนังสือถึง ครม. และ กนศ. เพื่อคัดค้านไม่ให้เข้าร่วมความตกลง CPTPP ขณะที่ในปี 2564 ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะทำรายงานวิจัยผลกระทบผลได้ ผลเสีย จากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ สอบ. ยังไม่ได้รับการประสานงานจากกระทรวงพาณิชย์ หรือได้รับรายงานการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ
ดังนั้น สอบ. จึงทำหนังสือขอความอนุเคราะห์บุคลากรจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นกลางทางวิชาการที่จะเป็นที่พึ่งให้กับสังคม ให้ช่วยจัดทำกรอบวิธีการศึกษาที่ควรจะเป็น ในการประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี เพื่อให้เป็นองค์ความรู้กลางในการกำหนดแนวทางการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการลงนามความตกลงการค้าเสรี โดยพบว่า การประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการเข้าร่วมกับความตกลง CPTPP ที่ผ่านมา ไม่เหมาะสมและเรียกร้องให้มีการทบทวนการประเมินผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง ตามเหตุผลต่อไปนี้
1. การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการยังไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำ Simulation Experiment (แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์) ของแบบจำลอง CGE (รูปแบบข้อมูลทางเศรษฐกิจ) ยังไม่ได้ผนวกผลของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด ที่งานศึกษาจำนวนมากพบว่า มีผลกีดกันการขอใช้สิทธิพิเศษเอฟทีเอ ทำให้ผลบวกที่มีต่อการค้ามากเกินความเป็นจริง
2. การวิเคราะห์ที่ผ่านมายังไม่มีการวิเคราะห์รายสาขาที่เป็นระบบประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะธรรมชาติของการค้า (บริษัทข้ามชาติเป็นคนกำหนดทิศทางการค้า) และโครงสร้างการผลิตและความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด ที่เป็นหัวใจกำหนดว่าผู้ประกอบการจะสามารถใช้สิทธิพิเศษเอฟทีเอได้หรือไม่ และอย่างไร
3. ผลกระทบทางด้านการลงทุนที่กล่าวอ้าง เป็นการกล่าวอ้างเกินจริง โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน (ปิติและคณะฯ (2564: หน้า 5 ย่อหน้าที่ 1 & หน้า 11 ย่อหน้า 3)) เกี่ยวกับต้นทุนการไม่เข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาค การกล่าวอ้างตั้งอยู่บนข้อสมมติที่ว่าเอฟทีเอที่ลงนามและเกิดการใช้ประโยชน์ (ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป) และการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าใน CPTPP ที่มีลักษณะเป็น Full Cumulation (การสะสมครบ) ทำได้ง่าย และเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นง่ายในความเป็นจริง เพราะ
(1) เงื่อนไขที่จะทำให้ Full Cumulation ของ CPTPP เกิดประโยชน์ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดรายสินค้าควรมีลักษณะเป็น Regional value content (RVC) หรือมี RVC เป็นทางเลือก แต่ใน CPTPP ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนพิกัดภาษีศุลกากร
(2) เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ Full Cumulation ทำงานได้ คือ เอฟทีเอต้องยอมให้มีระบบ Self-certification (การรับรองตนเอง) ที่ยอมให้บริษัทรับรองแหล่งกำเนิดด้วยตนเอง มิเช่นนั้นการพิสูจน์แหล่งกำเนิดในลักษณะที่ใช้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในห่วงโซ่การผลิต หรือห่วงโซ่มูลค่ามาผลิตจะมีต้นทุนเอกสารที่เยอะมาก เพราะต้องเปิดเผยว่าชิ้นส่วนหนึ่งใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิกมากน้อยเพียงใด ตัวชิ้นส่วนนั้นสามารถทำตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดในตัวเองได้หรือไม่ และจะนำมานับรวมได้มากน้อยเพียงใด
4. การสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการควรมีวิธีการตรวจสอบความสมเหตุสมผลเพิ่มเติม แทนการจดบันทึกความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต เพื่อลดปัญหาความลำเอียงในคำตอบเพื่อเอาใจผู้ถาม หรือ Social Desirability Bias ที่อาจจะมีได้ เช่น
(a) ผู้ที่แสดงความคิดว่าจะได้ประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการขอใช้สิทธิ (สามารถตรวจสอบได้จากรายชื่อผู้ประกอบการที่ขอใช้สิทธิเอฟทีเอที่ผ่านมา ว่ามีผู้ประกอบการใช้มากน้อยเพียงใด)
(b) โครงสร้างการกระจุกตัวของใบคำขอใช้สิทธิ เช่น มูลค่ารวมของผู้ขอใช้สิทธิพิเศษทางการค้า 10 รายแรกในแต่ละสินค้าเทียบกับมูลค่าการขอใช้สิทธิรวม เพื่อพิสูจน์ว่าประโยชน์ของการใช้สิทธิกระจายไปยังผู้ประกอบการรายกลางและเล็กมากน้อยเพียงใด เป็นต้น