แถลงการณ์นักวิชาการเรียกร้องให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนหยัดข้างผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

Getting your Trinity Audio player ready...

แถลงการณ์นักวิชาการเรียกร้องให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนหยัดข้างผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

เนื่องจากกรณีที่บริษัท ทรู คอร์เปอร์เรชั่น (จำกัด) มหาชน และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น (จำกัด) มหาชน มีเจตนาจะทำการควบรวมบริษัท ซึ่งท่านในฐานะคณะกรรมการองค์กรอิสระที่ดูแลกำกับกิจการโทรคมนาคมจะต้องใช้อำนาจพิจารณาการควบรวมครั้งนี้เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในกิจการโทรคมนาคม ที่หลังจากการควบรวม จะมีการเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทลูก คือ บริษัท ทรูมูฟเอช จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อันขัดต่อตามบัญญัติมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561

กลุ่มนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษา มีความกังวลต่อผลกระทบที่จะมีต่อสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านการศึกษาหากคณะกรรมการอนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการทั้งสอง เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้จะทำให้เกิดการผูกขาด และลดการแข่งขันในตลาดค่ายมือถือและตลาดอินเทอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงแหล่งความรู้จากทุกมุมโลกที่จะทำให้นักศึกษาและประชาชนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้วยตนเอง หรือจากสถาบันการศึกษาระดับโลก

กลุ่มนักวิชาการจึงขอเรียกร้องให้ท่านยึดมั่นต่อหน้าที่ที่มีต่อประชาชนในการรักษาผลประโยชน์สูงสุด ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยการไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม ซึ่งหากวิเคราะห์ตามมาตรา 21 ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 จะพบว่าได้มีการแสดงเจตนารมณ์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้มีการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งการควบรวมครั้งนี้

มีความชัดเจนว่าธุรกิจใหม่ของสองบริษัทข้างต้นจะทำให้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของบริษัทที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตได้ถึงสองบริษัท คือ บริษัท ทรูมูฟเอช และ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต

ซึ่งการควบรวมนี้จะทำให้บริษัทใหม่มีส่วนแบ่งในตลาดเกินกว่าร้อยละห้าสิบที่ทำให้กิจการมีอำนาจเหนือตลาดโดยทันที อีกทั้งทำให้คู่แข่งในตลาดสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตลดลงจากสามรายใหญ่เหลือสองรายใหญ่ คือ บริษัทใหม่หลังการควบรวม และ บริษัท เอไอเอส ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์

จากการศึกษาด้านวิชาการที่ได้ปรากฏในสื่อต่างๆ ในช่วงที่มีข่าวการควบรวม ได้ชี้ชัดว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ที่แสดงค่า HHI (Herfindahl Index เรียกย่อว่า HHI) ที่เป็นดัชนีวัดการกระจุกตัวของตลาด ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2500 แต่หากเกิดการควบรวม ดัชนีนี้จะทะยานสูงถึง 5007ที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อตลาดนี้ที่นำทรัพยากรคลื่นความถี่ของประชาชนมาบริหาร  

เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ และแวดวงวิชาการแล้วว่า ตลาดใดที่เป็นตลาดการผูกขาด หรือลดการแข่งขันจะเป็นตลาดที่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปหมดอำนาจในการเลือกซื้อบริการ และหมดอำนาจต่อรองด้านราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดที่หดตัวเหลือคู่แข่งเพียงสองรายใหญ่ จะมีแนวโน้มที่คู่แข่งทั้งสองลดการแข่งขันลงเรื่อยๆ จนเข้าสู่ความร่วมมือเพื่อสร้างกำไรสูงสุด โดยมีการคาดการณ์ว่า ราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่ม จะสูงขึ้นจาก 2.03เปอร์เซ็นต์ในระดับของการแข่งขันหลังควบรวม และจะทะยานถึง 244.5 เปอร์เซ็นต์ หากการแข่งขันเปลี่ยนไปเป็นความร่วมมือของธุรกิจทั้งสอง

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักวิชาการจึงร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ต่อคณะกรรมการ กสทช. ให้พิจารณาไม่อนุญาตการควบรวมเนื่องจากการควบรวมนี้จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากค่าบริการสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ โอกาสในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันหรือพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับโลกในทุกมิติ ท้ายที่สุด จะมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่หมดโอกาสเข้าบริการด้านสัญญาณคลื่นความถี่จากสาเหตุการแข่งขันที่ผูกขาดจึงเรียนมาเพื่อขอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาไม่อนุมัติการควบรวมครั้งนี้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

——————

ลงชื่อคัดค้าน

การควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมTRUE – DTAC

https://forms.gle/Mg2YiPHHV5w3f6ao9

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค