สภาผู้บริโภค ชี้ (ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยค่าบริการพิเศษ พ.ศ. … เอาเปรียบ ผลักภาระผู้บริโภคทางอ้อมต้องแบกค่าใช้จ่ายเพิ่ม ระบุ ทั้งคำนิยามระหว่าง ‘บริการปกติ – บริการพิเศษ’ ที่ไม่ชัดเจน ถามใช้เกณฑ์ใดกำหนดอัตราเรียกเก็บ หากผู้บริโภคปฏิเสธไม่จ่ายจะถูกปรับ ย้ำชัด ไม่เป็นธรรม!
ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ หรือ Service Charge ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าจากผู้ประกอบการบางราย ซึ่งมีเสียงสะท้อนถึงการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหลายคนมองว่า อัตราค่าบริการดังกล่าวสูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในประเทศไทย แม้จะมีการอ้างว่าเป็นอัตราสากลก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องการไม่แจ้งล่วงหน้าอย่างชัดเจนถึงการเก็บค่าบริการพิเศษ รวมถึงความไม่โปร่งใสในองค์ประกอบของค่าบริการเหล่านี้ และคำถามว่าผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการจ่ายได้หรือไม่หากไม่พึงพอใจกับบริการที่ได้รับนั้น
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยค่าบริการพิเศษ พ.ศ. … (อ้างอิง : https://web.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=408) ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้ขอความเห็นจากสภาผู้บริโภคด้วยนั้น โดยสภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับที่จะมีการผลักดันนี้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ และผลักภาระให้กับผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งยังอาจเปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดและเรียกเก็บค่าบริการพิเศษได้ฝ่ายเดียว หากผู้บริโภคปฏิเสธไม่จ่าย อาจถูกลงโทษปรับ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนก่อนการตัดสินใจใช้บริการ
“กฎหมายค่าบริการพิเศษฯ นี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน หลายประเด็นยังไม่สมเหตุสมผลและขาดความชัดเจน เช่น หากผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าบริการพิเศษ อาจถูกปรับสูงถึง 2,000 บาท ในขณะที่มูลค่าของอาหารที่สั่งเพียงหลักร้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ยังไม่มีเกณฑ์ชัดเจนในการแยกแยะระหว่างบริการปกติและบริการพิเศษ รวมถึงไม่มีการอ้างอิงหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าบริการเหล่านี้อย่างชัดเจน” โสภณ กล่าว
โสภณ กล่าวเสริมว่า หากร่างกฎหมายค่าบริการพิเศษฯ ถูกบังคับใช้ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร การท่องเที่ยว และโรงแรม ซึ่งอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทบทวนและกำกับดูแลค่าธรรมเนียมที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงตัวสะกดในตั๋วโดยสารเครื่องบินที่มีอัตราสูงถึง 750 – 2,000 บาท ซึ่งเป็นภาระที่ไม่สมควรสำหรับผู้บริโภค ทั้งนี้ การเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการมีสิทธิกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ โดยไม่มีการควบคุมจากภาครัฐอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำหนดมาตรการควบคุมและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเคยเปิดเผยว่า ผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บค่าบริการพิเศษได้ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาค่าอาหารเพื่อความสะดวกของผู้บริโภค แต่สภาผู้บริโภคยังคงเห็นว่า อัตราดังกล่าวไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในประเทศ ขณะที่บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ได้กำหนดกฎหมายเพื่อให้การเรียกเก็บค่าบริการช่วยเพิ่มค่าแรงของพนักงาน ลดการให้ทิป และสอดคล้องกับบริบทค่าครองชีพในประเทศนั้น ทั้งนี้ หากเนื้อหาในกฎหมายสำหรับการเก็บค่าบริการพิเศษไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่มีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน หรืออัตราการเรียกเก็บที่ไม่มีการอ้างอิงหรือไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในประเทศ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคไม่เห็นด้วยที่จะผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยค่าบริการพิเศษ พ.ศ. … โดยสรุป ความคิดเห็นที่สภาผู้บริโภคตอบกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการ สส. มีดังนี้
- คำนิยามในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยค่าบริการพิเศษ พ.ศ. … ไม่ควรเรียกว่า ค่าบริการพิเศษ เพราะไม่สามารถแจกแจงค่าบริการปกติและค่าบริการพิเศษได้ ดังนั้น ควรจำแนกบริการปกติ และบริการพิเศษให้ลูกค้าทราบตั้งแต่ก่อนรับบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเลือกได้ว่า จะเลือกใช้บริการปกติ หรือ บริการพิเศษ
- ค่าบริการพิเศษหรือค่าบริการเพิ่มเติมหรือค่าบริการ เกี่ยวข้องกับบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น อุตสาหกรรมธุรกิจโรงแรม กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ฯ จึงควรกำหนดขอบเขตธุรกิจบริการให้ชัดเจน
- การกำหนดค่าบริการพิเศษไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าหรือค่าบริการ เป็นการกำหนดอัตราร้อยละบนราคาสินค้า จะทำให้ภาระต้นทุนค่าบริการตกเป็นของผู้บริโภค แล้วยังเป็นอัตราก้าวหน้าตามราคาสินค้าหรือค่าบริการนั้น ๆ
- การออกกฎหมายภาคบังคับในลักษณะนี้ ควรมีทางเลือกในการใช้ธุรกิจบริการนั้น ควรอยู่ภายใต้ประกาศควบคุมสัญญา หรือ อนุบัญญัติ เพื่อที่จะกำหนดเป็นมาตรการเฉพาะที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับตัว และดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว
- ยังไม่มีความชัดเจนในการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงแนวทางเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ รวมถึงการเก็บค่าใช้จ่ายอื่นควรระบุให้แสดงข้อความทางกายภาพและต้องแสดงรายละเอียด พร้อมทั้งให้มีการบอกกล่าวด้วยวาจาให้ผู้รับบริการทราบก่อนเริ่มใช้บริการ หรือให้มีการพิสูจน์ยืนยันอย่างชัดเจนว่าเป็นการเข้าใช้บริการครั้งที่ 2
- เสนอให้พิจารณาค่าบริการพิเศษตามกรอบของ สคบ. ที่จะออกในรูปแบบประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการตามขอบเขตที่กำหนดในพระราชบัญญัติฯ นี้ เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินให้ชัดเจน
- หากมีการกำหนดให้เรียกเก็บค่าบริการพิเศษ หรือ ค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นที่ใช้ดำเนินการ นอกเหนือจากค่าสินค้าและบริการ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าตอบแทนทั้งหมดจะต้องถูกจัดสรรให้ลูกจ้าง จะต้องไม่เป็นรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจ หากพบว่ามีการนำเข้าเป็นรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีการลงโทษทางแพ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือไม่เกินสองเท่าของค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับ ตามบทลงโทษของ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2562
- ผู้ประกอบการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษโดยไม่มีเหตุผลสมควร ในลักษณะของการกระทำความไม่สมควรเป็นโทษทางอาญา ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิทางแพ่งได้ และควรเพิ่มโทษผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 17 และ 18 เพื่อให้สามารถบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตาม