ดันมาตรการเร่งด่วน แก้ปมคลินิก รักษา 30 บาท ไม่ออกใบส่งตัว

ผู้บริโภค กทม. พบปัญหาคลินิกไม่ออกใบส่งตัว ส่งผลต่อการรักษาไม่ต่อเนื่อง รักษาล่าช้าเพียบ! สภาผู้บริโภคดันมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเร่งด่วน – ระยะยาว ถึงนายกฯ สั่งด่วนให้ ‘สปสช. – หน่วยบริการ – คลินิกชุมชนอบอุ่น’ แก้ปัญหา ออกกติกา ออกแบบระบบจ่ายเงินที่เหมาะสมของระบบส่งต่อผู้ป่วย พร้อมสื่อสารนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ให้ชัด

จากกรณีการเบิกจ่ายระหว่างคลินิกชุมชนอบอุ่นและ สปสช. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนทำให้ผู้บริโภคหลายรายถูกปฏิเสธการออกใบส่งตัวผู้ป่วย การเรียกเก็บค่าออกใบส่งตัว การจำกัดโควตาการออกใบส่งตัว หรือการส่งตัวที่ล่าช้านั้น

วันที่ 16 กันยายน 2567 นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้ ซึ่งปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยยังเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคยังพบเจอโดยตลอด สภาผู้บริโภคเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องเร่งหาทางออกโดยเร็วเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ได้รวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดจากเวทีหาแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2567 จัดทำเป็นข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ การเสนอมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดย 1. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับหน่วยบริการปฐมภูมิและคลินิกชุมชนอบอุ่นแก้ไขปัญหาระบบการส่งต่อผู้ป่วย จัดให้มีกติกาในการส่งต่อผู้ป่วยและออกแบบระบบการจ่ายเงินที่เหมาะสม และ 2. นำเสนอและสื่อสารนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” อย่างชัดเจน รวมถึงการแจ้งสถานที่ที่ประชาชนสามารถรับบริการได้ เช่น ร้านขายยา คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น เพื่อลดความสับสนและลดความแออัดในโรงพยาบาล

ส่วนข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพในระยะยาวนั้น อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ระบุว่า 1. หน่วยงานกำกับดูแลต้องพัฒนาและยกระดับศักยภาพการให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างเทียบเท่ากับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รับขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองได้อย่างน้อย 50,000 คน และคลินิกชุมชนอบอุ่นควรทำหน้าที่เป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนการให้บริการที่ครอบคลุม และ 2. ควรทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะทาง มีช่องทางในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ลดระยะเวลารอคอยและลดความแออัดในหน่วยบริการสาธารณสุข อีกทั้งควรสร้างความร่วมมือ โดยการขยายขอบเขตการรับส่งต่อผู้ป่วยในกรณีอื่น ๆ ของโรงพยาบาลเอกชนด้วย นอกเหนือจากการให้บริการรักษาในกรณีฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้น

“การเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ สภาผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับและเร่งหาทางออกให้กับประชาชนโดยเร็ว กรณีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยที่ประชาชนพบเจอมาโดยตลอด และหากผู้บริโภครายใดที่ได้รับความไม่สะดวกในการใช้บริการสุขภาพ สามารถร้องเรียนกับ สปสช. ที่เบอร์สายด่วน 1330 หรือสภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502” อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ระบุ