คุณภาพชีวิตผู้ป่วยไม่ควรขึ้นอยู่กับปลายปากกาของคลินิก เรียกร้อง สปสช. เร่งแก้ปัญหาคลินิกไม่เซ็นใบส่งตัวเพื่อการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล อย่างเป็นรูปธรรม และครอบคลุม ทุกคนควรมีสิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ตามสิทธิที่พึงได้รับ
จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายเงินจากรูปแบบการจ่ายตามรายการ เป็นการเหมาจ่ายรายหัวตามข้อเสนอของคลินิกชุมชนอบอุ่น ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา และกำหนดให้ผู้รับบริการจำเป็นต้องใช้บริการที่คลินิกในชุมชนเพื่อขอใบส่งตัว ซึ่งหลังจากนโยบายนี้ประกาศใช้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการปฏิเสธการออกใบส่งตัวผู้ป่วยของคลินิกชุมชนอบอุ่นอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น
สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธดังกล่าว จึงได้เรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คลินิก กทม. เร่งหาทางออก แก้ปัญหาการส่งตัวผู้ป่วย และตรวจสอบคลินิกหรือหน่วยบริการที่ไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม แม้ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้ขอความร่วมมือจากคลินิกเพื่อให้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่พบว่าประชาชนยังได้รับความเดือดร้อน สปสช.จึงตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่ปัจจุบันยังพบว่ายังมีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้นอยู่
ทีมข่าวสภาผู้บริโภค (วันที่ 13 มิถุนายน 2567) ได้สอบถามไปยังตัวแทนผู้เสียหายจากกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ“รวมคนได้รับผลกระทบจากใบส่งตัว บัตรทอง นโยบายใหม่ของ สปสช.” ซึ่งได้เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ผู้เสียหายได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อหน่วยงานภาครัฐ 3 ครั้ง โดยยื่นต่อ สปสช. ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ประชาชนก็ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและครอบคลุมสำหรับผู้เสียหายทุกคน
ทั้งนี้ ตัวแทนผู้เสียหายผู้หนึ่ง ได้เล่าถึงผลกระทบของตนเองว่า เดิมคุณแม่ของตนเองต้องรักษาโรคมะเร็งและโรคกระดูกพรุนต่อเนื่องที่โรงพยาบาลศิริราชและสามารถรับใบส่งตัวได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข แต่เมื่อโรงพยาบาลพบปัญหาการปรับเปลี่ยนรูปแบบข้างต้น ทำให้ต้องกลับไปที่คลินิกปฐมภูมิเพื่อให้คลินิกออกใบส่งตัวเท่านั้น แต่คลินิกกลับไม่ออกใบส่งตัวให้และแนะนําให้ติดต่อโรงพยาบาลศิริราชทำเรื่องใช้สิทธิมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ ซึ่งสร้างปัญหาการรักษาพยาบาลต่อเนื่องกับมารดาของตนเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภครายอื่น ๆ ได้ส่งเสียงสะท้อนมายังสภาผู้บริโภคว่า คลินิกเหล่านี้มักหาเหตุผลต่าง ๆ หรือสร้างเงื่อนไขในการขอใบส่งตัวเพื่อให้การขอใบส่งตัวยุ่งยากขึ้น เช่น การกำหนดว่าจะออกใบส่งตัวเพียงวันละ 4 ใบ การกำหนดระยะเวลารับคิวออกใบส่งตัวถึงเที่ยงวันเท่านั้น หรือกรณีคนไข้มีโรคหลายโรค แต่คลินิกจะออกให้เพียง 1 โรค ต่อ 1 ครั้งเท่านั้น หากเป็น 5 โรค ก็ต้องมาขอ 5 ครั้ง ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
“กรณีของเราแม้จะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะคลินิกจะออกใบส่งตัวให้เดือนต่อเดือน แล้วเดือนหน้าคุณแม่มีนัดก็ต้องมาลุ้นว่าคลินิกจะออกใบส่งตัวให้หรือไม่ และกับผู้ป่วยบางคนเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและคลินิกไม่สามารถรักษาได้ แต่กลับไม่ออกใบส่งตัวเพราะกลัวจะไม่ได้รับเงินจ่ายชดเชยการให้บริการ กลายเป็นว่าเหมือนอำนาจอยู่ในมือคลินิกเพราะมีสิทธิออกใบส่งตัว ปัญหาที่พบทำไมให้มีความรู้สึกว่าทำไมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต้องขึ้นอยู่กับปลายปากกาของคลินิกที่จะเซ็นใบส่งตัวหรือไม่ ทั้งที่ควรเป็นสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงการรักษา” ตัวแทนผู้เสียหายกล่าว
ทั้งนี้ ตัวแทนผู้เสียหายเปิดเผยถึงกรณีการเข้าไปร้องเรียนไปที่ สปสช. ว่า เมื่อพบปัญหาและร้องเรียนไปที่ สปสช.ก็จะได้รับการแก้ไข แต่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบรายกรณีหรือบางกรณีไม่สามารถแก้ไขไม่ได้ ทำให้ต้องมีการติดตามเรื่องอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ก็มีผู้เสียหายคนอื่นเลือกที่จะจ่ายค่ารักษาเองหรือบางคนเลือกที่จะไม่รักษาตัวต่อ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เสียหายได้เรียกร้องให้ สปสช. ยกเลิกใบส่งตัวที่ออกจากคลินิกชุมชนอบอุ่นและให้กลับไปใช้ระบบการจ่ายเงินแบบเดิมก่อนในระหว่างที่ สปสช.จะเปลี่ยนระบบเป็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกจำกัดการเข้าถึงการรักษาตามสิทธิพื้นฐานโดยนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดขึ้นมา