กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ หวั่นควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ทิ้งกลุ่มเปราะบาง-คนชายขอบ-คนจนจ่ายแพงขึ้น เสี่ยงผูกขาด ละเมิดสิทธิพื้นฐานปชช. หลังเครือข่ายสลัมสี่ภาค – ผู้บริโภค ยื่นร้องเรียน วอนอย่าให้เกิดการละเมิดสิทธิการเข้าถึงคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมีมติให้เลื่อนการลงมติวาระพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ออกไปเป็นวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุผลว่าต้องรอข้อมูลใหม่เพิ่มเติมจากบริษัท SCF Associates บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศของ กสทช. ขณะที่ในรายงานวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศระบุว่าการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคจำทำให้ค่าบริการแพงขึ้น การแข่งขันในตลาดลดลง และรายใหม่เกิดยากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคนั้น
วันนี้ (19 ตุลาคม 2565) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์กรณีการขอควบรวมกิจการ ระหว่างทรูและดีแทค โดยระบุว่าประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสคัดค้านจากนักวิชาการ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ด้วยความกังวล ด้านผลกระทบต่อประสิทธิภาพการแข่งขันและการมีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการควบรวมกิจการอาจส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภค ที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล และราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม
ในแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุอีกว่า บริการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของประชาชนผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน หากอนุญาตให้บริษัทโทรคมนาคมทั้งสองแห่ง ซึ่งเป็นกิจการประเภทเดียวกันควบรวมกัน อาจเข้าข่ายเป็นการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกหรือมีทางเลือกน้อยลง
โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มชายขอบ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม (สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่) และผู้ที่มีรายได้น้อยอาจต้องเสียค่าบริการในอัตราที่สูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน
กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาควบรวมกิจการบริษัทโทรคมนาคมทั้งสองแห่ง ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน และประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 60 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
2. ขอให้เปิดเผยผลการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ที่สำนักงาน กสทช. จัดจ้างให้มีการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคต่อสาธารณะ และนำผลการศึกษามาประกอบการพิจารณาด้วย
และ 3. ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอจาก กสม. เป็นไปเพื่อให้การประกอบธุรกิจด้านกิจการโทรคมนาคมมีธรรมาภิบาล สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ไม่ผูกขาดอำนาจเหนือตลาด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคอันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
เครือข่ายสลัมสี่ภาค ร้องกรรมการสิทธิฯ วอนอย่าให้เกิดการละเมิดสิทธิการเข้าถึงคลื่นความถี่ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ หลังผลศึกษาที่ปรึกษา ตปท. ระบุ หาก กสทช. อนุญาตให้ควบรวมจะทำให้กลุ่มคนรายได้น้อย ทั้งในตจว. พื้นที่ห่างไกล ถูกทอดทิ้ง – ค่าบริการแพงขึ้น – ลิดรอนสิทธิประชาชนในการเข้าถึงคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 เครือข่ายสลัม 4 ภาค และสภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ กสม. สนับสนุนให้ กสทช. ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และกฏหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
หนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศที่ กสทช. ว่าจ้างให้ศึกษาผลกระทบการควบรวมกิจการนั้น ในบางประเด็นเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคมีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่ง เช่น ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโครงข่ายของตัวเอง (MNO) จะเพิกเฉยต่อบริการพื้นที่ชนบท (ภูมิภาคที่มีรายได้น้อยและห่างไกล) รวมถึงจะขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ จากนั้นผู้ประกอบการ MNO ทั้ง 2 ราย จะมุ่งเน้นทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูง พื้นที่เมือง และพื้นที่ประชากรหนาแน่นเป็นหลัก โดยคำนึงถึงผลตอบแทนหรือกำไรที่มากกว่า
จากประเด็นดังกล่าวบ่งชี้ชัดเจนว่า การควบรวมที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกลและมีรายได้น้อย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องลงทุนสูงเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นกลุ่มที่ไม่ทำกำไรให้กับธุรกิจ
“หาก กสทช. พิจารณาให้ทั้งทรูและดีแทคควบรวมกิจการกัน จะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งในต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการบริการสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมืองจะต้องเสียค่าบริการสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิในการเลือกใช้บริการทรัพยากรสาธารณะของประชาชน” หนูเกณ กล่าว
ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวอีกว่า ด้วยสาเหตุที่ระบุในรายงานการศึกษาดังกล่าวที่การควบรวมกิจการจะส่งผลกระทบกับประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ ประกอบกับมีความกังวลต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช. ที่อาจใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน
ดังนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาคจึงมายื่นหนังสือร้องเรียนกับ กสม. ให้ยืนยันสิทธิของประชาชนในการใช้คลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม มีทางเลือก และในราคาค่าบริการที่สังคมทุกระดับจ่ายได้ รวมทั้งการช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่ของ กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และกฏหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม
“ขณะนี้การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านคลื่นความถี่อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตทุกคน ทั้งอุปกรณ์จำเป็นในยามฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือที่ทำให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงความรู้การศึกษาอย่างเท่าเทียม ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนที่อยู่ในเขตห่างไกล
การลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงสัญญาณคลื่นความถี่และบริการใหม่ ๆ ด้วยการควบรวมธุรกิจ จึงเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ดังนั้น กสทช. จึงต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย ด้วยการหยุดยั้งการมีมติที่จะกระทบกระเทือนต่อสิทธิการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่” ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุทิ้งท้าย
ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นตัวแทนในการรับหนังสือจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า กสม. จะนำเรื่องร้องเรียนในประเด็นเรื่องการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิการเข้าถึงคลื่นความถี่ของประชาชน เข้าคณะทำงานเรื่องร้องเรียนในช่วงบ่ายของวันที่ 17 ตุลาคม 2565 นี้ เพื่อพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ถ้าหากเข้าข่าย กสม. จะเร่งดำเนินการตามกระบวนการของ กสม. ทั้งการออกแถลงการณ์ และ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป