สภาผู้บริโภคชี้ การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ขาดการรับฟังในวงกว้างอย่างทั่วถึง แนะหน่วยงานเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมให้ทั่วทุกพื้นที่ ในช่องทางที่หลากหลาย เพราะกระทบภาระค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกับประชาชนที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
สภาผู้บริโภคชี้ การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ขาดการรับฟังในวงกว้างอย่างทั่วถึง แนะหน่วยงานเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมให้ทั่วทุกพื้นที่ ในช่องทางที่หลากหลาย เพราะกระทบภาระค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกับประชาชนที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
จากกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้ประกาศเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ในระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 ถึงวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 รวม 19 วัน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นนำไปประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย โดยให้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย เว็บไซต์กระทรวงคมนาคม และเว็บไซต์ สนข. นั้น
วันนี้ (7 กรกฎาคม 2566) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่าสภาผู้บริโภคมีความประสงค์จะร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายนี้ในฐานะผู้แทนผู้บริโภค แต่เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียวทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งไม่ได้ข้อมูล และเข้าไม่ถึงช่องทางดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นได้ จึงมองว่าการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง และมีระยะเวลาจำกัด เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีรายละเอียดเนื้อหาสำคัญที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมของผู้บริโภคโดยรวมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การรับฟังความคิดเห็นต้องขยายพื้นที่การรับฟัง และขยายเวลาออกไปตามสมควร
“ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การกำหนดการรับฟังความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้บริโภคเพียงช่องทางออนไลน์อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้บริโภคทุกกลุ่มในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง” คงศักดิ์กล่าว
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้ สนข. เปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากสภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และเพิ่มช่องทางรับฟังความคิดเห็นให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มได้อย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ระบุว่า “รัฐควรดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบท กฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับ ฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน”