ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เหตุซ้ำเติมทุกข์ประชาชน
จากกรณีที่ เมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการเสนอพิจารณาให้ความเห็นชอบต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี โดยรัฐมนตรีทั้งหมด 7 คนจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งไม่เข้าร่วมการประชุม ครม.เพื่อคัดค้านที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอความเห็นชอบการเจรจา และเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. บีทีเอสซี บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ออกไปเพื่อแลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายนั้น
วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2565) ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เข้าพบศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นข้อเสนอขอให้ชะลอการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการขึ้นราคาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ยื่นต่อ รมว. คมนาคม มีทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้
1. ขอสนับสนุนกระทรวงคมนาคมให้ชะลอแผนการขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการขึ้นราคาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคออกไปก่อนโดยทันที
2. ขอให้ร่วมแสดงจุดยืนและเป็นพลังร่วมกับประชาชน ในการคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า และกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
3. ขอให้สนับสนุนการกำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวัน ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้บริการขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้
4. ขอให้ประกาศนโยบายให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ใช่บริการทางเลือกของผู้บริโภค
5. ขอให้สนับสนุนการยกเว้นค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนของระบบรถไฟฟ้า จัดระบบตั๋วร่วมหรือระบบบัตรใบเดียว และกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมในทุกระบบ เพื่อลดภาระของผู้บริโภคในการใช้บริการขนส่งมวลชนในทุกระบบ
6. ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคต เพื่อศึกษาผลกระทบและกำหนดแนวทางให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องราคากับผู้บริโภค ที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น และเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับทุกคน