หน่วยงานประจำจังหวัดลำพูน ประสานความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ หวังพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น
วันที่ 8 เมษายน 2565 ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน จัดเวทีเสวนา “การพัฒนาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”
ในเวทีมีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้น ทั้งในภาพรวมและในจังหวัดลำพูน โดยตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ เล่าถึงบทบาทในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทำให้เห็นถึงข้อแตกต่างในหน้าที่การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละองค์กร รวมถึงเห็นจุดเชื่อมต่อที่แต่ละองค์กรจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อจัดการปัญหาและดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นไปในทางเดียวกัน คือ การแก้ปัญหาผู้บริโภคนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม
ช่วงต้นของเวทีเสวนา สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.กล่าวถึงการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา และภาพรวมของการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งระบุว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นปัญหาผู้บริโภคที่ต้องได้รับการแก้ไขและผลักดันอีกมากมาย เช่น การผลักดันเรื่องบำนาญประชาชน เรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ รวมไปถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องภาวะโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของ สอบ. รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคว่า จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ได้อย่างไร
บุพพัณห์ คำทิตา รองประธานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน และหน่วยงานประจำจังหวัดลำพูน ระบุว่าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน ทำงานสอดคล้องกับ สอบ. ในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด โดยศูนย์ฯ มีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่กว่า 20 องค์กร ซึ่งช่วยกันทำงานตรวจสอบ เฝ้าระวัง รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังทำงานเชื่อมต่อกับอีกหลายองค์กรในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นต้น
จรูญ คำปันนา นายกเทศมนตรีตำบลศรีบัวบาน กล่าวว่า ปัญหาผู้บริโภคเป็นปัญหาที่สำคัญ อีกทั้งปัจจุบัน สิ่งที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคมีหลากหลายมาก ทั้งปัญหาเรื่องยาชุด ปัญหาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังระบาดไปทั่วประเทศ ดังนั้น การมีองค์กรที่เข้ามาทำงานในเรื่องนี้โดยเฉพาะจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดย อปท. จะทำงานประสานกับ สอบ.และองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อจัดการปัญหาผู้บริโภคต่อไป ทั้งนี้ การจะแก้ปัญหาผู้บริโภคได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากสื่อมวลชนในพื้นที่ ช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สภาทนายความ สำนักงานอัยการ สสจ. ด้วย
วัฒณีย์ จรูญพันธ์นิธิ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดลำพูน กล่าวถึงการทำงานของสำนักงานอัยการจังหวัดลำพูนว่า สำนักงานอัยการทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำด้านกฎหมายให้แก่ประชาชนที่เข้ามาร้องเรียน และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนั้น ๆ เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด ทั้งนี้ สำนักงานอัยการฯ ไม่ได้รับช่วยเหลือในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเดียว แต่รับช่วยเหลือให้ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายในด้านอื่น ๆ ด้วย
อินทริยา อินทพันธุ์ รองนายแพทย์ สสจ.ลำพูน ระบุว่า สาธารณสุขจังหวัดลำพูนทำงานร่วมกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นระยะเวลาหลายปี ในการเฝ้าระวังปัญหาเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมไปถึงการจัดการปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในพื้นที่ และน่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ คือ ปัญหาโฆษณาออนไลน์ ซึ่งจัดการได้ยาก และภูมิภาคไม่มีกำลังพอในการจัดการ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก
“นอกจากการทำงานร่วมกับองค์กรผู้บริโภคแล้ว การร้องเรียนจากผู้บริโภคถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเฝ้าระวังปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้น หากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ หรือพบเจอสินค้าบริการที่ไม่ปลอดภัย อยากให้ร้องเรียนเข้ามาที่ สสจ. หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปได้อย่างราบรื่น” อินทริยา กล่าว
พัสกร นันทวิชัย นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนจังหวัดลำพูน เล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา พบว่าสื่อมีอิทธิพลมากในการเตือนภัยประชาชน และส่งเสียงไปยังหน่วยงานว่า มีสิ่งที่เป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างกรณีที่หน่วยงานติดป้ายบอกทางตรงถนนผิดพลาด นักข่าวจึงทำข่าวลงในสื่อออนไลน์ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากหน่วยงาน และเห็นว่าเขาดำเนินการแก้ไขเสร็จภายในวันนั้นเลย
ลิขิต อินทวงษ์ กรรมการเผยแพร่กฎหมาย สำนักงานสภาทนายความ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทั้งยังมีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงไปในเรื่องต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบ คือ สิทธิพื้นฐานที่มีตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ เช่น ถ้าซื้อสินค้าแล้วพบว่าชำรุดเสียหาย หรือหมดอายุ เราสามารถเปลี่ยนคืนสินค้าได้ และในความเป็นจริง ร้านค้าไม่สามารถตั้งเงื่อนไขว่าห้ามเปลี่ยนคืนสินค้าด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคมีปัญหาถูกละเมิดสิทธิและต้องการปรึกษาเรื่องกฎหมาย สามารถปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากสำนักงานฯ ได้
“ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนและเสียงสะท้อนจากเวทีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาผู้บริโภคต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นปัญหาของประเทศไทยในระดับโครงสร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนไป ถ้าตราบใดที่ประชาชนไม่ตื่นตัวและลุกขึ้นมาสู้ สิ่งที่เราได้รับวันนี้คือความร่วมมือ ได้ทราบช่องทางในการร้องเรียน ภาวะเรื่องการซื้อของออนไลน์ เป็นเรื่องมาแรง และเป็นอันตรายต่อประชาชน จึงควรเร่งทำ ควรเสริมความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ สื่อก็ต้องเผยแพร่ อีกอันหนึ่ง คือ ต้องเชื่อมกับแต่ละท้องถิ่นให้ชัดเจน ซึ่งจะสามารถคลี่คลายความทุกข์ ความคับข้องใจต่าง ๆ ของประชาชนลงไปได้”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีการจัดเวที 2 วัน (วันที่ 6 เมษายน 2565) เลขาธิการ สอบ. รองเลขาธิการ สอบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ สอบ. เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภค กับผู้แทนสภาลมหายใจ สภาพลเมือง ทีมโควิดชุมชน นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักธุรกิจเพื่อสังคม เทศบาลจังหวัด และนักการเมืองท้องถิ่น จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนดังกล่าวมีการนำเสนอข้อมูลที่สำคัญของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น การผูกขาดเกี่ยวกับบริการขนส่งสาธารณะ มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ความหลากหลายในการบริโภคอาหารลดลง เรื่องการขาดโอกาสทางการศึกษา และประสิทธิภาพการเรียนการสอนที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงปัญหาของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ว่า ยังไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเท่าที่ควร ทำให้ทั้งงบประมาณและอำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง อีกทั้งเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีปัญหาผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้บางครั้งปัญหาเล็ก ๆ อาจไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นความท้าทายของ สอบ. ว่าจะเข้าไปสนับสนุน หรือทำให้เกิดกระบวนการพัฒนา เพื่อยกระดับผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร