ลุย! คอนโดในซอยแคบที่ผิด กม. จี้ กทม.ยกเลิกใบอนุญาตก่อสร้างชั่วคราว

สภาผู้บริโภคพบถนนสาธารณะ 3 ชุมชนเดือดร้อนจากการสร้างคอนโดสูงในซอยแคบไม่ถึง 6 เมตร ส่อผิดกฎหมายเตรียมทำหนังสือส่งข้อมูลให้ กทม. และขอให้ยกเลิกหรือทบทวนการให้ใบอนุญาตชั่วคราวตาม มาตรา 39 ทวิ หวั่นเกิดปัญหาตามมา พร้อมประกาศให้ชุมชนใน กทม.ที่รับผลกระทบเข้าร้องเรียน หวังแก้ไขผังเมืองให้รองรับการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพของทุกคน ขณะที่ กทม.รับแก้ไขปัญหารังวัดถนนไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงของการใช้ชีวิตในชุมชน

หลังจากเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 สภาผู้บริโภค นำโดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค ได้นำสื่อมวลชน พร้อมตัวแทน 3 ชุมชนที่ร้องเรียน สร้างคอนโดสูงในพื้นที่แคบ ลงพื้นที่สำรวจเพื่อรังวัดถนนว่ามีขนาด 6 เมตรตามกฎหมายหรือไม่  

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคได้เชิญเจ้าหน้าที่เขตจตุจักร และเขตพญาไท เข้ามาร่วมรังวัดไปพร้อมกัน แต่ทั้งสองสำนักงานเขตไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมมีเพียง สุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมอาคาร สำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทน เข้ามาร่วมรังวัดถนน ไปพร้อมกับประชาชนใน 3 ชุมชน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากสภาผู้บริโภคได้นำทีมสื่อมวลชน และผู้อำนวยการควบคุมอาคารของกรุงเทพมหานคร ลงสำรวจที่เกิดเหตุจากเรื่องร้องเรียนของ 3 ชุมชน โดยรังวัดพื้นผิวถนนสาธารณะที่สามารถใช้สัญจรได้จริงตามวิถีชีวิตของคนในชุมชน พบว่า ทั้ง 3 ชุมชนที่ประกอบด้วยชุมชนโครงการเอส – ประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ ซอย 23) โครงการเอส – รัชดา (รัชดา ซอย 44) และโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) มีระยะห่างของถนนจาการวัดพื้นผิวถนนไม่ถึง 6 เมตร ส่อผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 รวมไปถึงข้อเท็จจริงในการละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ชุมชนเดิม

ทั้งนี้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 2544  ระบุขนาดความกว้างของ ถนนสาธารณะ ในการก่อสร้างอาคาร เอาไว้ดังนี้ อาคารขนาดใหญ่ขนาดไม่เกิน 9,999 ตารางเมตร ความกว้างถนนสาธารณะต้องมีตั้งแต่ 6 -10 เมตร ซึ่งทั้ง 3 โครงการเข้าข่ายผิดข้อบัญญัติดังกล่าว

สารี กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ พบว่าทั้ง 3 ชุมชนมีขนาดถนนที่ใช้ในการสัญจรไม่ถึง 6 เมตร ตลอดแนวจนถึงพื้นที่ขออนุญาตนั่นหมายความว่า เป็นการอนุญาตที่ไม่ถูกต้องตามกติกาของกรุงเทพมหานคร  หรือตามกติกาของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น สภาผู้บริโภคจะรวบรวมข้อมูลทั้ง 3 ชุมชนเพื่อขอให้กรุงเทพมหานครทบทวน แล้วนอกจากขอให้กรุงเทพมหานครทบทวนแล้ว จะส่งข้อมูลไปให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญพิจารณาการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่อนุญาตไปแล้วเป็นการเข้าใจผิดว่าถนน 6 เมตรเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องจะได้ทบทวนโครงการนี้ต่อไป

“ไม่ควรสร้างภาระให้กับชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชนที่จะต้องไปดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วผลออกมาเหมือนกับที่โครงการแอชตัน หรือ คอนโดในซอยร่วมฤดี เพราะฉะนั้นจึงคิดว่ากรุงเทพมหานครควรจะมีบทเรียนในเรื่องนี้แล้วเราหวังว่า กรุงเทพมหานครจะทบทวนใบอนุญาตหรือทบทวนการให้ผ่านใบอนุญาตชั่วคราวตาม มาตรา 39 ทวิ ที่สามารถให้มีการก่อสร้างก่อนแล้วอนุญาตที่หลัง จึงหวังว่าจะเกิดการทบทวนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ”

สารี กล่าวย้ำว่า เอกสารและข้อมูลที่ส่งไปยัง กทม. และ คณะกรรมการ คชก. มีจุดประสงค์ขอให้ยกเลิกเพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากหลังจากรังวัดความกว้างของถนนทั้ง 3 โครงการมีความกว้างของถนนสาธารณะไม่ถึง 6 เมตรทั้งหมด จึงขอให้ กทม.ยกเลิกใบอนุญาต โดยจะรวบรวมข้อมูลเสนอต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณายกเลิกในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ การให้ใบอนุญาตก่อสร้างชั่วคราวตามมาตรา 39 ทวิ ที่อนุญาตให้ก่อสร้างก่อนได้รับใบอนุญาตจริง อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ จึงอยากให้ทบทวนการอนุญาตก่อสร้าง หรือ ไม่อนุญาตก่อสร้างตามมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ควรให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบก่อนผ่านการอนุมัติ

นอกจากนี้สภาผู้บริโภค ขอประกาศให้ชาวบ้านในพื้นที่ หรือชุมชนที่มีการก่อสร้างคอนโดสูงในซอยแคบ และได้รับความเดือดร้อนจากโครงการติดต่อมาที่สภาผู้บริโภคเพื่อรับเรื่องร้องเรียนแก้ไขปัญหา

“ชุมชนที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนเข้ามาได้ที่สภาผู้บริโภคทุกช่องทาง โดย ขณะนี้สภาผู้บริโภคมีผู้เชี่ยวชาญจาก 3 ชุมชนที่พร้อมจะทำงานในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยหวังว่าเราจะเดินหน้าผลักดันเรื่องผังเมืองซึ่งควรจะเป็นมิตรกับผู้คนอยู่อาศัยดั้งเดิม ผังเมืองที่ควรจะรองรับทุกคนที่จะมีชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครได้”

สุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมอาคาร กล่าวว่า การรังวัดถนนตามข้อบัญญัติ กทม. จะมีวิธีวัดจากกำแพงชนกำแพงอีกฝั่งหนึ่ง ไม่ได้รังวัดตามผิวถนนจราจร อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ร่วมกับสภาผู้บริโภคทำให้พบปัญหาข้อเท็จจริงในพื้นที่  ซึ่งหลังจากนี้สำนักงานควบคุมอาคารจะรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงไปพิจารณาต่อไปถึงปัญหาของชุมชนในพื้นที่ดั้งเดิมถูกกระทบอย่างไร

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการพิจารณาจะรื้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาคาร ที่ให้ความสำคัญกับกับประชาชนเป็นหลัก รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่แคบอาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของวิธีการรังวัดถนนที่สอดคล้องกับความเดือดร้อน หรือการใช้จริงของในพื้นที่

“การลงพื้นที่ของสภาผู้บริโภคทำให้ได้รับฟังปัญหาของชุมชนและเห็นสภาพจริงของการใช้พื้นที่ ซึ่งหากวิธีการวัดความกว้างถนน ตามหลักการวัดของกทม. จะวัดจากรั้วถึงรั้วเป็นหลัก การวัดเสาไฟฟ้าถึงรั้วจะไม่นับเพราะเสาไฟฟ้าถือว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งไม่ถูกหลักการวัดของ กทม. แต่อย่างไรก็ตามในอนาคต กทม. กำลังพิจารณาจะทบทวนกฎหมายเหล่านี้รวมถึงวิธีการรังวัดถนนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนออกมาบังคับใช้”


สำหรับข้อมูลการสำรวจชุมชนของซอยประดิพัทธ์ 23 พบปัญหาการสัญจรติดขัด เพราะภายในซอยมีตลาด ที่มีการสัญจรเพื่อขนส่งสินค้าและซื้อของในตลาดทำให้การสัญจรเข้าออกทำได้ไม่สะดวก รวมไปถึงการจอดรถในซอยที่ไม่มีมาตรการมากำกับดูแลให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้ต้องมีการเบี่ยงเส้นทางการจราจรเมื่อมีรถสวนทางกัน อีกทั้งเป็นซอยที่เข้าออกได้ทางเดียวไม่สามารถทะลุเพื่อไปออกถนนหลักอีกเส้นได้

ด้าน ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – ประดิพัทธ์  ได้ให้ความเห็นในประเด็นความกว้างของพื้นผิวจารจรที่ต้องเกิน 6 เมตร ที่กฎหมายเขียนไว้เพื่อป้องกันเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากมีคอนโดสร้างขึ้น จำนวน 219 ยูนิต กับที่จอดรถ 68 คัน เมื่อที่จอดรถไม่เพียงพอแน่นอนว่ารถคันที่เหลือต้องออกมาจอดข้างนอกตามซอย จึงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุอัคคีภัยและความแออัดของชุมชน ที่จะทำให้รถดับเพลิงและรถพยาบาลเข้าช่วยเหลือได้ไม่ทันเวลา

อีกทั้ง ยังมีประเด็นของ PM 2.5 จากการก่อสร้างโครงการที่อาจส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคในชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นควัน มลภาวะที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพ ซึ่งขัดต่อสิทธิผู้บริโภคโดยพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและยังชีพได้อย่างปลอดภัย และสิ่งใดที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้บริโภคต้องปกป้องสิทธิของตนเอง


ปัญหาของซอยพหลโยธิน 37 เป็นซอยที่มีการเข้าออกทางเดียว และมีลักษณะเป็นซอยแคบ ไม่มีฟุตบาท มีคอนโดอยู่ตรงข้ามโครงการอยู่แล้ว 1 หลัง โดยชุมชนเป็นลักษณะชุมชนเก่าแก่ มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวนมาก อีกทั้งในซอยยังมีโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล​จนถึงชั้นมัธยมปลาย ที่มีนักเรียนอยู่ถึง 1,700 คน และบุคลากรครูอีกกว่า 100 คน โดยในช่วงที่นักเรียนเข้าเรียน และช่วงที่นักเรียนเลิกเรียน ปริมาณรถเข้าออกเพื่อรับส่งนักเรียนมีความหนาแน่นมาก

ด้าน ธีระ อัชกุล ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเดอะมูฟ พหลโยธิน 37 กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำจดหมายถึงทางการร้องเรียนเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพราะคนในชุมชนไม่มีความรู้ ส่วนการให้ข้อมูลของบริษัทเข้ามาทำค่อนข้างรวบรัดและไม่เป็นไปตามาตรฐาน ไม่มีความโปร่งใส จึงเขียนจดหมายเพื่อร้องเรียน แต่กลับพบการตอบกลับว่าไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงาน

ทางผู้เสียหายจึงได้ฝากถึงคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ว่าเหตุใดหน่วยงานจึงไม่ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่กลับปล่อยให้คนในชุมชนต้องต่อสู้กับบริษัทที่มาทำ EIA เพียงลำพัง โดยไม่มีข้อมูลหรือความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเลย เช่นนั้นจะมีรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร หากมีแล้วไม่สามารถปกป้องประชาชนได้ และฝากไปถึงผู้ที่มีอำนาจให้ลงมาตรวจสอบและดูแลประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย

นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนยังให้ข้อมูลว่า การทำประชาพิจารณ์ของโครงการ เป็นการทำโดยให้คนนอกพื้นที่ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในซอยเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง จึงเป็นข้อสังเกตุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

“ณ วันนี้ที่ยังไม่มีการสร้างคอนโด การสัญจรของซอยค่อนข้างมีปัญหาในช่วงเช้าและเย็น และนักเรียนบางส่วนที่ต้องเดินเท้าออกไปยังหน้าซอย มีความยากลำบากในการเดินเพราะไม่มีทางเท้าให้เดิน ต้องเดินสวนรถเข้าออก และการสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาทั้งในเรื่องของการสัญจรและมลภาวะ” ผู้เสียหายระบุเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้สูงอายุในชุม ที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง และเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชุน ได้ฝากคำถามมายังหน่วยที่เกี่ยวข้อง ว่าเหตุใดก่อนอนุมัติโครงการ ทางหน่วยงานไม่ลงมาสำรวจว่าจะกระทบต่อการอยู่อาศัยของคนในชุมชนหรือไม่ แม้ว่าคุณยายจะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ไม่นิ่งเฉยต่อการปกป้องสิทธิของตน ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทเพื่อคัดค้านการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการติดต่อกลับจากบริษัท

“อยากให้ดูจากกรณีตัวอย่างของแอสตัน อโศก ที่ก่อสร้างเสร็จแล้วมีปัญหาตามมาต้องมาหาทางแก้ทีหลังก็ได้สร้างผลกระทบให้ทั้งกับคนในชุมชนและลูกบ้าน ซึ่งเราควรแก้ไขที่ต้นเหตุไม่ให้ปลายเหตุ จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉุดคิดในเรื่องนี้” คุณยายฝากถึงหน่วยที่เกี่ยวข้อง

เห็นได้ว่า ไม่ว่าใครก็สามารถออกมาสู้เพื่อสิทธิของตนเองได้ หากท่านเห็นว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิควรออกมาปกป้องสิทธิของตัวท่านเอง อย่าปล่อยให้ถูกละเมิดจนเกิดความเคยชิน จนต้องจำยอมต่อปัญหานั้น


ปัญหาของรัชดาซอย 44 คือถนนโดยรอบมีลักษณะแคบทำให้การจราจรในเวลาเร่งด่วนหนาแน่น และยังมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีอาคารดูแลผู้สูงอายุอยู่ถึง 200 เตียง จึงมีความจำเป็นที่รถพยาบาลจะเข้าออกบ่อยครั้ง เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล และเนื่องจากชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ บ้านส่วนใหญ่เป็นไม้ เพียงรถบรรทุกขับผ่านก็ได้รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน หากมีการก่อสร้างคอนโดขนาดใหญ่ แน่นอนว่าชาวบ้านที่อาศัยจะได้รับผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง

สมวงศ์ พงศ์สถาพร ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – รัชดา 44 ได้เล่าย้อนไปเมื่อปี 2563 มีบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมของโครงการมาแจกเอกสารว่าจะมีการสร้างคอนโด 535 ยูนิต กับประชากร 1,400 คน ในพื้นที่ 2 ไร่เศษ ซึ่งค่อนข้างหนาแน่นคนในชุมชนจึงรวมตัวกันคัดค้านและทำประชาพิจารณ์โครงการ แต่ไม่ผ่านเพราะข้อมูลไม่ครบ ทั้งนี้ ยังเป็นกังวลเรื่องปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้น เพราะรถเก็บขยะจะเข้ามาเก็บในชุมชนอาทิตย์ละ 2 วัน หากมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นตามด้วย  

“ตอนทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกมีปัญหาเรื่องข้อมูลไม่ครบ ซึ่งหากทางชุมชนไม่ร้องข้อทางโครงการก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไร รวมถึงการประชุมที่รวบรัดและอ้างว่าเลือกทางที่ดีที่สุดให้คนในชุมชนแล้ว แต่เมื่อมาดูรายละเอียดจะพบว่ามีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากคนในชุมชนไม่รวมตัวกัน ไม่ศึกษาข้อมูลเอง อาจกลายเป็นต้องยอมจำนนต่อการสร้างโครงการ” ผู้เสียหายกล่าวเพิ่มเติม

จากการลงพื้นที่ สภาผู้บริโภคพบว่า ลักษณะปัญหาของทั้ง 3 ชุมชนคือปัญหาซอยแคบ และมีความกว้างของถนนสาธารณะไม่ถึง 6 เมตร เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถอนุมัติโครงการพื้นที่รวมมากกว่า 2,000 ตร.ม. ได้ หวังว่ากทม.จะเรียนรู้จากกรณีของแอชตัน และผู้ประกอบการควรปรับคอนโดให้มีขนาดเล็กลง มีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ตามหลักกฎหมาย เพื่อจะได้ไม่กระทบกับประชาชนในพื้นที่

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค