บทบาทคนรุ่นใหม่กับการเรียนรู้และขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค “ช่องว่างระหว่างวัยไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเราไม่เข้าใจกัน”
“ก่อนหน้านี้งานผู้บริโภคกับงานคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยมีพื้นที่ที่ทำงานร่วมกันมากนัก เป็นการมองงานกันแบบแยกส่วน หลังเกิดการรัฐประหารจึงเริ่มเห็นปัญหาร่วมกัน เห็นโครงสร้างอำนาจที่มากดทับ และได้ข้อสรุปว่าไม่สามารถต่อสู้เพียงลำพังได้ จึงต้องหันหน้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งการและกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน”
ณัฐพร อาจหาญ ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวเปิดประเด็นในช่วงดำเนินการเสวนา เรื่อง “บทบาทคนรุ่นใหม่อีสานกับการขับเคลื่อนงานทางสังคม” จากเวทีเครือข่ายคนรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสาน (วันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2565) ซึ่งจัดโดย หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาองค์กรของผู้บริโภค
ปรากฎการณ์แบบนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกับคนทำงานขับเคลื่อนสังคม องค์กร หรือเอกชนเท่านั้น ช่องว่างและชุดความคิดระหว่าง Gen ที่ห่างกันมาก ความเข้าใจระหว่างวัยหรือระหว่างเจนเนอเรชั่นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานซึ่งประกอบด้วยคนต่างวัย หลากหลายของชุดความคิด เนื่องจากเกิดและโตในสภาพแวดล้อมต่างกัน การอบรมสั่งสอนต่างกัน พื้นฐานวัฒนธรรมและความเชื่อที่ต่างกัน การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง การตัดสินใจ และให้คุณค่ากับบางอย่าง หรือทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่ช่องว่างของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่จะขยายกว้างมากขึ้นทุกขณะ
แต่หากต้องทำงานเป็นทีมเดียวกัน อยู่ในองค์กรเดียวกัน เรื่องระยะห่างระหว่างวัยของคนทำงานรุ่นเก่าและคนทำงานรุ่นใหม่จะหาจุดกึ่งกลางและความสมดุลได้อย่างไร เพื่อให้ทุกคนได้ปรับตัวและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง หรือแม้แต่การขัดหูขัดตาจากพฤติกรรมของคนต่างวัย ข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของเครือข่ายคนรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสาน ดูจะเห็นแนวทางแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เจิดจรัสออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
ในตรงกันข้ามคนรุ่นใหม่ หรือ Newcomer ภาคอีสานให้ความสำคัญกับงานคุ้มครองผู้บริโภค ในแง่มุมต่างๆ และสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่ “การคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อสังคมที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย” สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ทั่วโลกยึดถือเป็นหลักการร่วมกัน นั่นคือ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) เป้าหมายที่ 12 ของ SDGs สร้าง “มูลค่า” จากงานที่มี “คุณค่า” เพื่อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน
และที่สำคัญสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นใหม่มีการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีความคิด ความเชื่อ ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง การขยายตัวของคนรุ่นใหม่จนเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก เพื่อมาโอบอุ้มการอยู่ร่วมกันระหว่างสังคม Gen Y ขึ้นไปกับสังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนรุ่นใหม่กลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้บริโภคที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้าและบริการแตกต่างไปจากสมัยก่อน อันนำไปสู่การเกิดขึ้นของอาชีพและไอเดียใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว หรือในฐานะผู้ประกอบการ แรงงานและนักวิชาชีพที่ต้องพัฒนาทักษะและศักยภาพเพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดร่วมการทำงานขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสานของคนรุ่นใหม่ (Gen Y หรืกลุ่ม Millennium) กับ คนรุ่นก่อน (Gen B หรือ Baby Boomers) คือ ยึดหลักการประชาธิปไตย หลักการสิทธิพลเมือง ไม่สนับสนุนอะไรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมประโยชน์สูงสุดของประชาชนในฐานะผู้บริโภคทุกคนที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีและควรได้รับการคุ้มครอง
“สิทธิผู้บริโภค” ถือเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองไว้ 5 ข้อ ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา 5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหาย
การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ย่อมหมายถึงเคารพสิทธิผู้บริโภคด้วยเช่นกัน เท่ากับว่าคนรุ่น Gen Y กับคนรุ่น Gen B ไม่สนับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ควรได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ”
นอกจากนี้ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ในเวที ยังมีข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสานที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างประเด็นที่เป็นแก่นของรุ่นพี่ที่ขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคมายาวนานกว่า 25 ปี และร่วมกันผลักดันให้เกิด “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 46 ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค
และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค เริ่มดำเนินงานแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
- ทำให้ทุกคนมองเห็นประเด็นผู้บริโภคที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คือ เสริมภูมิความรู้ด้านสิทธิผู้บริโภค สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคว่า “ประชาชน (ผู้บริโภค) ทุกคนสัมพันธ์กับอำนาจสิทธิขั้นพื้นฐานในตัวเอง”
- เชื่อมต่อคนทำงานทางสังคมที่หลากหลายทั่วประเทศ เพื่อยกระดับประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคสู่ปัญหาเชิงโครงสร้าง และสร้างแนวร่วมการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบมาเป็นสังคมพลเมืองผู้บริโภคร่วมกัน
- จัดเวที “Gen We” สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังกัน เพื่อหลอมรวมการทำงานขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของคน 2 วัย เปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสร้างวัฒนธรรม และมุุมมองใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภคไทยว่า “การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย” สลายวัฒนธรรมการใช้อำนาจกดทับคนที่ด้อยกว่า (พี่กดทับน้องจนทำให้น้องรู้สึกถูกกดทับภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่)
- ร่วมกันออกแบบนโยบายเพื่อคนทุกวัย ยึดมั่นในอุดมการณ์ และจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์ ปกกป้อง คุ้มครองผู้บริโภค ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตและจิตวิญญาณของคนทำงานรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมและอยู่รอดไปด้วยกัน ให้ได้อยู่อย่างมีความหมายทำงานเชิงคุณค่าไปด้วยกัน
- สื่อสารถึงกลุ่ม Newcomer ทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นในด้านองค์ความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองบบริโภค ที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นก่อนที่มีประสบการณ์งานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำให้เเกิดการเชื่อมต่อระหว่าง Gen สืบทอดจิตวิญญาณการทำงานด้านผู้บริโภคต่อไป เช่น การทำหลักสูตรทางเลือกจัดโดยสภาฯ (ออนไลน์หรือออนไซต์) หรือวิชาเลือกในโรงเรียนเกี่ยวกับ “ผู้บริโภคศึกษา” “หลักสูตรว่าด้วยความรู้ด้านผู้บริโภค 8 ด้าน พร้อมคู่มือและสื่อ โดยใช้ Gamification ที่ไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว
แต่ออกแบบกระบวนการที่ทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกสนุกเหมือนกับการเล่นเกม มาใส่ในบริบทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกม เพื่อเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่ความสนุก แต่คือการเล่นเพื่อเป้าหมายคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน เช่น การใช้เครืองมือเรียนรู้ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ด้าน ด้วย Boardgame, ชวนผู้บริโภควัยรุ่นอายุน้อย มาร่วมเวทีงานประชุมสามัญของสภาองค์กรของผู้บริโภค, ใช้ Google Ad Word สามารถ Key ใน Search engine ได้ง่าย ใช้คีย์เวิรดแบบพาดหัวข่าวเป็น เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลหรือกรณีศึกษาที่ลงในฐานข้อมูล เป็นต้น
เวทีเครือข่ายคนรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสาน สะท้อนให้เห็นว่า “ช่องว่างระหว่างวัยไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเราไม่เข้าใจกัน” เมื่อรุ่นพี่ Gen B เต็มใจและให้โอกาสที่จะส่งมอบองค์ความรู้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มวัย ไม่ว่าจะกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เด็กและเยาวชน
ตลอดจนครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้กับคนรุ่นน้อง Gen Y ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับงานคุ้มครองผู้บริโภค เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ก็พร้อมที่จะเข้าใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้ สร้างสรรค์นวตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไทย ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต