สภาองค์กรของผู้บริโภคหนุนให้เกิด พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ แก้กฎหมายเพิ่มโทษหนัก โฆษณาผิดปรับเพิ่มเป็น 3 แสน ย้ำช่วยคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น
วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2565) มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคขอให้สภาผู้แทนราษฎร สนับสนุน พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่ ผ่านการพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่าการออก พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่จะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาโฆษณาเกินจริง
ทั้งนี้ จากสถิติเรื่องร้องเรียนของสภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่า ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นอันดับที่ 4 ของปัญหาของผู้บริโภค จากทั้ง 9 ด้าน (ข้อมูลวันที่ 18 ตุลาคม 2565) โดยพบปัญหาการโฆษณาเกินจริง สินค้าไม่มีฉลาก การขายอาหารที่หมดอายุ ประกอบกับเมื่อต้นปี 2565 พบเด็กป่วยเป็นเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 คน จากการกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ
ต่อมาเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2565 พบการเรียกคืนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ชนิดของบริษัท Sheng Sheng F&B Industries ภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์หมี่ซีดาพ (Mie Sedaap) เนื่องจากพบสารเอทิลีนออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาฆ่าแมลง จากสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ หรือ SFA และยังรวมไปถึงปัญหาการขายโดนัทหมดอายุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปรับปรุง พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่ และขณะนี้กำลังจะถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงต้องการให้ ส.ส. เห็นความสำคัญและให้ พ.ร.บ.อาหารดังกล่าว ผ่านการพิจารณา เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น
“ที่ผ่านมาปัญหาอาหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ที่มีความล้าสมัย คำนิยามที่ไม่ครอบคลุม การให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ไม่ชัดเจน และมีบทลงโทษที่เบาเกินไปจนทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวและทำให้สามารถกระทำผิดซ้ำได้ ดังนั้น การออก พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การกำหนดบทลงโทษที่มากขึ้น ช่วยลดปัญหาโฆษณาเกินจริง เป็นต้น” มลฤดี กล่าว
ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การผลักดันให้ พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่เกิดขึ้นจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นการขายอาหารหมดอายุจะมีความผิดความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจะครอบคลุมอาหารแปรรูปทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การกำกับของ อย. ถือว่าเป็นอาหารเสื่อมคุณภาพทันที หรืออำนาจในการเรียกคืนสินค้าเมื่อพบว่าสินค้านั้นอันตราย
และการเพิ่มบทลงโทษที่มากขึ้นสำหรับการโฆษณาเกินจริง โดยระบุว่าผู้ใดโฆษณาอาหารที่มีข้อความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมและส่วนรวม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการเพิ่มบทลงโทษที่หนักขึ้นเป็นการป้องกันและป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหาการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงได้