กสทช. สั่งห้ามการควบรวมได้หรือไม่? ส่องข้อเท็จจริงจากคำสั่งศาลปกครอง

อีกเพียงหนึ่งวันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาแห่งชาติ (กสทช.) จะประชุมพิจารณาการควบรวมค่ายมือถือทรู – ดีแทค (วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565) ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแนวทางการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกันอย่างหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมมองข้ามไม่ได้คือ ศาลเคยมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร

ตามที่มีผู้ฟ้องคดีปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศการรวมธุรกิจของ กสทช. และขอให้ศาลปกครองทุเลาการบังคับตามประกาศนี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น แต่สุดท้ายแล้วศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับดังกล่าว ในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

หากเราศึกษารายละเอียดคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว เราจะพบข้อเท็จจริงและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนี้

  1. กสทช. ให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองว่า ตามข้อ 12 ของประกาศรวมธุรกิจ กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อกำกับการควบรวมกิจการ ซึ่งอำนาจนี้รวมถึงการสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ ซึ่งอาจรวมถึงการห้ามมิให้มีการรวมธุรกิจ
  2. นอกจากนั้น กสทช. ยังยื่นคำชี้แจงอีกว่า รายงานการรวมธุรกิจตามประกาศดังกล่าว ยังถือเป็นการขออนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด ซึ่ง กสทช. ยังมีอำนาจสั่งห้ามการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันได้
  3. ส่วนเอกชนผู้ร้องสอด (บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คแซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มหาชน) ได้ชี้แจงต่อศาลปกครองว่า ประกาศมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดนั้น กำหนดในเรื่องการถือครองธุรกิจ (Acquisition) ระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน แต่มิได้กำหนดกรณีการรวมธุรกิจ (Merger) ไว้
  4. อย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาข้อกฎหมายและคำชี้แจงของทุกฝ่ายแล้ว ศาลปกครองมีความเห็นว่า รายงานการรวมธุรกิจถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามประกาศมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด และเป็นกรณีที่เมื่อผู้ร้องสอดทั้งสองจะรวมธุรกิจกันซึ่งจะต้องมีการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ของผู้ร้องสอดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสองยังคงต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. หากการรวมธุรกิจอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช. ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้
  5. ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ในกรณีที่การรวมธุรกิจนั้นมีลักษณะตามข้อ 8 ของประกาศมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด กสทช. ก็มีอำนาจอนุญาต

ความเห็นเหล่านี้สอดคล้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจฯ ด้านกฎหมาย ของ กสทช. จะเห็นได้ว่าข้อสรุปด้านกฎหมายในกรณีการรวมธุรกิจนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ กสทช. มีอำนาจสั่งห้ามการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน แม้เอกชนจะเคยต่อสู้ในศาลปกครองว่า ประกาศมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดใช้บังคับกรณีการถือครองธุรกิจ (Acquisition) และมิได้กำหนดกรณีการรวมธุรกิจ (Merger) ไว้ก็ตาม

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค