ถ้า กสทช.ปฏิเสธหน้าที่เป็นครั้งที่สอง ควรพิจารณาตัวเองด้วยการลาออก

สภาผู้บริโภคยืนยัน กสทช. ต้องยุติการดำเนินการควบรวมบริการอินเทอร์เน็ตระหว่าง AIS และ 3BB เพราะจะทำให้ราคาแพงขึ้นราว 9.5% – 22.9% หาก กสทช. ยังปฎิเสธอำนาจตนเองในการยับยั้งการควบรวมครั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะขอให้ กสทช. ลาออกและยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที

ตามที่ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สรณ บุญใบชัยพฤษ์ ได้จัดแถลงข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้ควบรวมบริการอินเตอร์เน็ตระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN กับบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB นั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่าเป็นการชี้นำ แสดงความไม่เป็นกลางของประธาน กสทช. ในกรณีดังกล่าว เสมือนหนึ่งว่าการพิจารณานี้ ประธานเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินมิใช่องค์คณะกรรมการกสทช. ซึ่งมีกรรมการทั้งสิ้น 7 คน (รวมประธาน)

การแสดงทีท่าดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับความเห็นนักวิชาการด้านกฎหมาย นักการเมือง นักวิชาการจากสถาบันทีดีอาร์ไอ และองค์กรของผู้บริโภค ที่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการกสทช. ทั้งคณะ มิใช่อำนาจของประธานกสทช. เพียงคนเดียว ในการพิจารณาเรื่องการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันหรือการควบรวม และบริษัทที่แสดงความจำนงที่จะควบรวมก็ขอให้ กสทช. เป็นผู้พิจารณาการควบรวมดังกล่าว

ข่าวอ้างอิงจากสภาผู้บริโภค

จะเห็นได้ว่า หากประธานลุแก่อำนาจพิจารณาว่ากสทช.ไม่มีอำนาจอนุญาต ทำได้แค่รับทราบ จะเป็นการกระทำที่ซ้ำรอยในการสร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นครั้งที่สองหลังจากครั้งแรกได้มีการรวบรัดสรุปมติ รับทราบ ในการควบรวมค่ายมือถือยักษ์สองค่ายคือ ทรู และ ดีแทค ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ภายหลังได้ปรากฏผลความเสียต่อผู้บริโภคอย่างเป็นที่ประจักษ์ การแสดงออกที่เป็นการชี้นำ และไม่กลางของประธานเท่ากับเป็นการเปิดทางให้เกิดการผูกขาดมากขึ้นในกิจการโทรคมนาคม สร้างการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยากที่จะแก้ไขได้ หาก กสทช. ปฎิเสธการทำหน้าที่กำกับกิจการโทรคมนาคม สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องให้ท่านยุติการทำหน้าที่ และลาออกจากตำแหน่งโดยทันที

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการศึกษาของ 101 Policy Research ร่วมกับสภาผู้บริโภค จะเห็นได้ว่า ผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมระหว่าง AIS และ 3BB อย่างกว้างขวาง เช่น

(1) จะกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านแตกต่างกันตามพื้นที่ ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นระหว่าง 9.5% – 22.9% ในพื้นที่ที่ทั้งสองรายแข่งขันทับซ้อนกันและมีคู่แข่งน้อย

(2) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มพ่วงบริการอินเทอร์เน็ตบ้านกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งจะเหลือค่ายโทรศัพท์มือถือ 2 ค่ายใหญ่ที่มีศักยภาพ คู่แข่งรายอื่นตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะแข่งขันได้น้อยลง ในอนาคต ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจเหลือผู้เล่นหลัก 2 รายตามค่ายโทรศัพท์มือถือ

(3) กสทช. ต้องกำกับให้ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือแข่งขันแยกกัน โดยมีบริการแยกเดี่ยวที่เป็นทางเลือกได้จริงสำหรับผู้บริโภค และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านในทุกพื้นที่

สภาผู้บริโภค จึงขอให้กสทช.พิจารณาและใช้อำนาจของคณะกรรมการในการพิจารณาเรื่องนี้ โดยไม่อนุญาตให้ถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมในครั้งนี้

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค พบว่า บริษัทใหม่ที่เกิดหลังการควบรวม คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจ ทำให้ราคาแพงขึ้นรายละ 100 บาท สร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องร้องเรียนโดยไม่มีความจำเป็น มีการลดคุณภาพระบบอินเทอร์เน็ตลงจนเป็นปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ส่งไลน์และข้อมูล มีปัญหาการใช้งานด้านโทรศัพท์เกิดอาการติด ๆ ดับ ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการบังคับใช้ เงื่อนไขการควบรวมตามข้อตกลงที่กระทำไว้ดับทั้งสองบริษัทได้ เช่น เรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ได้แก่

1) การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย ก. โดยลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม ข. ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการเพื่อให้เป็นทางเลือก ค. ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ ง. ให้ผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นจำนวนร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต

2) การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)

3) การคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้บริษัท บริษัท ทรู มูฟ เอช คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี            

4) สัญญาการให้บริการ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ท่ีได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว 

5) การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการภายหลังการรวมธุรกิจ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค