สภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อง เสรีพิสุทธ์ มติ กสทช. 3:2:1 ผิดกฏหมาย ขัดแย้งคำวินิจฉัยศาล และ จ้างฟินันซ่าไม่โปร่งใส
จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง” นั้น
วันนี้ (26 ตุลาคม 2565) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เข้ายื่นหนังสือกับพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 3 คน และรักษาการเลขาธิการ กสทช. กรณีการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค
สารี กล่าวอีกว่า การลงมติรับทราบ อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ของศาลปกครองกลาง ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ยอมรับต่อศาลปกครองว่าสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามไม่ให้มีการรวมธุรกิจได้ โดยมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศฯ ปี 2549
“กสทช. ควรพิจารณาใช้อำนาจลงมติในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจตามคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ไม่ใช่ทำเพียงลงมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งการทำเพียงรับทราบ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่” สารี ระบุ
ส่วนในประเด็นการลงคะแนนเสียงของที่ประชุม กสทช. ดังกล่าว สารี ระบุว่า อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผลของมติการประชุม 3:2:1 จากกรรมการห้าคนเกิดจากการลงคะแนนซ้ำของประธาน กสทช. ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อข้อ 41 (2) แห่งระเบียบข้อบังคับการประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมที่กำหนดว่า กรณีการวินิจฉัยชี้ขาดนี้ ต้อง ‘ได้รับมติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด’
ในกรณีนี้มีจำนวนกรรมการห้าคน มีการลงมติ 2:2:1 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการลงมติ รับทราบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่อนุญาตให้ควบรวมจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง นั้นมีจำนวนเสียงมติมากสุดไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว ดังนั้น ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ในประเด็นการจ้างบริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ที่ปรึกษาที่อาจมีส่วนได้เสียกับบริษัทที่ต้องการควบรวมกิจการ อาจก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดความเป็นอิสระในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง แม้จะได้รับทักท้วงอย่างกว้างขวาง แต่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ
นอกจากนี้ การลงมติของกรรมการ กสทช. ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการผูกขาดของสองเจ้าใหญ่ (Duopoly) ที่ยังขาดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาที่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น การขาดการพิจารณารายการงานศึกษาของต่างประเทศ หรือการไม่ให้ความสำคัญกับการพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้งทั้ง 4 คณะ ที่ไม่สนับสนุนให้ กสทช. อนุญาตให้ควบรวม
ด้าน พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธาน กมธ.ป.ป.ช. ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นขององค์ประชุมกรรมการ กสทช. ที่ไม่ครบ 7 คนแต่กลับเร่งตัดสินใจลงมติควบรวมกิจการ โดยระบุว่า กสทช. ควรรอให้กรรมการครบทั้ง 7 คนก่อนตัดสินใจพิจารณา เนื่องจากเป็นการควบรวมที่มีผลประโยชน์สูงมากและส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและสาธารณะอย่างมาก ในเรื่องค่าบริการที่แพงขึ้น รวมถึงทางเลือกของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง
แต่ที่ผ่านมา กสทช. กลับให้กรรมการ กสทช. เพียง 5 คน มาพิจารณาการควบรวมกิจการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมและเอกสารที่เกี่ยวข้องจากสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการดำเนินการต่อไป