จังหวัดที่ 19 สภาผู้บริโภค ตั้งหน่วยงานประจำจังหวัดน่าน หวังขยายฐานยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมทั่วไทย ด้านหัวหน้าหน่วยฯ ประกาศเดินหน้าสร้างความเท่าทัน กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้สิทธิของตัวเอง พร้อมหาแนวร่วมขจัดปัญหาซื้อขายออนไลน์ในพื้นที่ให้อยู่หมัด
หลังจากคณะกรรมการนโยบาย สภาผู้บริโภค ประกาศจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัดน่าน สภาผู้บริโภค ขึ้นเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียน แก้ไข ไกล่เกลี่ยให้แก่ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ รวมถึงการเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาผู้บริโภค อีกทั้งยังต้องสนับสนุนองค์กรสมาชิกในพื้นที่ของสภาผู้บริโภคและการส่งเสริมรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคในพื้นที่นั้น
เล็งแก้ปัญหาซื้อขายออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดน่าน
วุฒิกร พุทธิกุล ศูนย์เรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชน ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดน่าน สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ก่อนที่จะถูกจัดตั้งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัด ศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นหน่วยประสานงานของสภาผู้บริโภคอยู่ก่อนแล้ว โดยทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดน่านมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างประเด็นที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย สร้างความตื่นตัวให้โรงเรียน สำนักงานขนส่ง จังหวัดน่าน ผู้ประกอบการการ และผู้ปกครอง ในการจัดระเบียบรถตู้รับส่งนักเรียนและการทบทวนความปลอดภัยในการใช้บริการ และอีกประเด็น คือ การผลักดันให้เกิดจุดประสานงาน ที่เรียกว่า HUB Q&A รับเรื่องร้องเรียนสินค้าไม่ตรงปก หรือ พบปัญหาการที่ไม่ได้สั่งสินค้าแต่มีสินค้ามาส่ง ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ได้ ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองน่าน สำนักงานยุติธรรมจังหวัด บริษัทขนส่งเอกชน ได้แก่ Kerry J&T และ Flash Express เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาข้างต้น
“คาดหวังว่าในอนาคตจะมีการผลักดันให้ปัญหาจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ลดลงหรือหมดไปจากจังหวัดน่านให้ได้ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค” วุฒิกร ระบุ
หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดน่าน ยังระบุด้วยว่า แม้จังหวัดน่าน จะเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดน้องใหม่ล่าสุด แต่การทำงานหลังจากนี้จะเดินหน้าให้ความรู้ ให้ข้อมูล สร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นและเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ เยาวชน เป็นต้น รวมถึงการประสานงานและเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เพื่อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดน่าน ทั้งนี้ ขอฝากถึงผู้บริโภคชาวน่าน ที่หากพบปัญหาผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิผู้บริโภค ร้องเรียนปัญหาที่พบ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคได้
หน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น
ขณะที่ พงศ์ธร จันทรัศมี หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นและทำให้ผู้บริโภคตกเป็นผู้เสียหายจำนวนมาก แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาคุ้มครองผู้บริโภคหลายแห่ง แต่ผู้บริโภคยังคงถูกละเมิดสิทธิอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเกิดขึ้นของหน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยให้การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากวิธีการทำงานของภาคประชาชนที่มีการทำงานเชิงรุก เข้าใจปัญหาผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ พร้อมรับมือกับปัญหาผู้บริโภคได้ทุกด้านโดยไม่มีข้อจำกัดเช่นหน่วยงานอื่น
นอกจากนี้หน่วยงานประจำจังหวัดยังสามารถเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ สร้างความตระหนัก เสริมความเท่าทันให้ผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนปัญหาผู้บริโภคได้ครบจบในที่เดียว ซึ่งหน่วยงานประจำจังหวัดมีการทำงานเฉกเช่นเดียวกันกับสำนักงานสภาผู้บริโภคในส่วนกลาง
เดินหน้าต่อ ผลักดันหน่วยงานประจำจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ด้าน พวงทอง ว่องไว รองหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นถึงจุดเด่นของหน่วยงานประจำจังหวัดน่าน คือ การนำประเด็นต่าง ๆ มาสื่อสารและผลิตสื่อเผยแพร่ โดยสามารถทำงานได้กับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มและผลักดัน ขับเคลื่อนเป็นนโยบายในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานมีการแสวงหาความรู้และพัฒนาศักยภาพคนทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการวางแผนงานอย่างเป็นระบบเพื่อให้แก้ไขปัญเรื่องร้องเรียนให้ยุติได้ และมีการสร้างภาคีเครือข่ายให้การทำงานเป็นไปตามแผน รวมทั้งการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เกิดการพิทักษ์สิทธิและเรียกร้องสิทธิผู้บริโภคเมื่อถูกละเมิดสิทธิได้
พวงทอง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สภาผู้บริโภคมีหน่วยงานประจำจังหวัดอยู่ทั้งหมด 19 แห่ง และจะเดินหน้าผลักดันให้ครอบคลุมในทุกจังหวัดเพื่อทำให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ จึงอยากเชิญชวนองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคและผ่านการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เข้ามาเป็นองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคเพื่อทำงานคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าเป็นองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค กับฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ที่เบอร์โทรศัพท์ 1502 กด 308
เกี่ยวกับหน่วยงานประจำจังหวัดน่าน สภาผู้บริโภค
ศูนย์เรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชน เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม 2546 ขณะนั้นมีการจัดทำโครงการสนับสนุนสิทธิชุมชน คน กับ ป่า พื้นที่ป่าสบยาว จังหวัดน่าน หลังจากนั้นมีการจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดน่าน ที่มีการจัดทำโครงการต้นแบบต้นทุนชีวิตในเด็กและเยาวชนและโครงการป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชน ต่อมาผ่านการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค จาก สปน. และได้เข้าเป็นองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค ลำดับที่ 273 ระหว่างนั้นเป็นหน่วยประสานงานของสภาผู้บริโภคที่รับเรื่องร้องเรียนและช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกจัดตั้งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดน่าน สภาผู้บริโภค นอกจากนี้ศูนย์เรียนรู้เพื่อเสริมสร้างฯ ดังกล่าว ยังเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน จากกรมคุ้มครองสิทธิตาม พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2562