ความต่างจัดการอาหารไม่ปลอดภัย ถึงเวลารีบปัดฝุ่น พ.ร.บ.อาหาร

ประเทศฝรั่งเศสพบสารปรอทในปลาทูน่ากระป๋อง กับการตอบสนองแบบรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยปัญหาพบสารเคมีในองุ่นไชน์มัสฯ จนบัดนี้ยังไม่ไปไหน ถึงเวลาปัดฝุ่น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 แล้ว

องุ่นไชน์มัสแคท

ความแตกต่างในการจัดการปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยระหว่างประเทศไทยและประเทศในยุโรปสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างในการคุ้มครองผู้บริโภคไทยที่ยังห่างไกลจากมาตรฐานสากล กรณีศึกษาล่าสุดเรื่องการพบสารปรอทในปลาทูน่ากระป๋องในยุโรปและสารเคมีตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทในไทย แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน

การตอบสนองที่แตกต่าง ยุโรป vs ไทย

จากกรณี ที่องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล Bloom ของฝรั่งเศส และองค์กรสิทธิผู้บริโภค Foodwatch วิเคราะห์ปลาทูน่ากระป๋อง และพบว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีสารปรอทและ 57% มีปริมาณปรอทเกินขีดจำกัดที่ 1.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หลังจากตรวจพบสารปรอทองค์กรสิทธิผู้บริโภค ได้ออกมาเตือนภัยประชาชน ถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ และเรียกร้องไม่ให้ใช้ทูน่ากระป๋องเป็นวัตถุดิบทำอาหารในโรงพยาบาล โรงเรียน บ้านพักคนชรา และหอผู้ป่วยหลังคลอด และเรียกร้องให้มีการกำหนดปริมาณปรอทในปลาทูน่าอย่างเข้มงวดขึ้น ให้มีมาตรฐานเดียวกับปลาชนิดอื่น รวมถึงยังมีนักเคลื่อนไหวได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของยุโรปหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณปรอทเกินเกณฑ์ เพื่อปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบาง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ชี้แจงว่าค่ามาตรฐานดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยพิจารณาจากข้อมูลการปนเปื้อนในชีวิตจริง และเน้นหลักการต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ผลิตปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยกรณีองุ่นไชน์มัสแคท ที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท แล้วพบสารเคมีตกค้าง 23 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 24 ตัวอย่าง และได้ออกมาแถลงข่าวเตือนภัยผู้บริโภค แต่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเครื่องความปลอดภัยด้านอาหารทุกหน่วยงาน กลับไม่มีมาตรการจัดการที่เป็นรูปธรรม ในทางกลับกันองค์กรที่ออกมาเผยแพร่ผลทดสอบกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อย แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ความรับผิดชอบของผู้นำเข้าและการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

การจัดการอาหารไม่ปลอดภัยสองซีกโลก

เมื่อมีการตรวจพบอาหารที่ไม่ปลอดภัย องค์กรภาคประชาชนของยุโรปจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการตรวจสอบและจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร มีระบบเตือนภัย เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว มีการเรียกร้องให้มีการนำผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาออกจากตลาดอย่างรวดเร็ว ขณะที่องค์กรภาคประชาชนในประเทศไทยยังประสบปัญหาในการทำงาน เนื่องจากหน่วยงานรัฐไม่ให้ความร่วมมือ และมักจะให้ความสำคัญกับผลกระทบทางการค้า มากกว่าผลกระทบต่อประชาชน

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่หน่วยงานรัฐเพิกเฉยกับการตรวจพบอาหารไม่ปลอดภัย คือเนื้อหาใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ที่ใช้มานานกว่า 40 ปี ไม่สามารถตามทันความเปลี่ยนแปลงโลกในยุคปัจจุบัน และการค้าขายอาหารระหว่างประเทศเป็นไปอย่างซับซ้น กลายเป็นข้อจำกัดในการควบคุมความปลอดภัยอาหารและไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานของภาครัฐในการระงับหรือเตือนภัยผู้บริโภคยังไม่สามารถก้าวทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงได้

ปัญหาเชิงระบบที่ต้องแก้ไข

ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปทั้งหมด สภาผู้บริโภค จึงได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 โดยให้มีกลไกจัดการอาหารที่ไม่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและสามารถปฏิบัติได้จริง เช่นเดียวกับที่นานาประเทศดำเนินการ เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพบอาหารไม่ปลอดภัยควรมีแผนรับมือการนำอาหารที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดอย่างเป็นระบบ แทนที่จะเป็นเพียงการให้คำแนะนำในการล้างหรือการบริโภค ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่ดูดซึมเข้าสู่ผลิตภัณฑ์แล้วได้

ทั้งนี้ การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของไทยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ในการร่วมกันผลักดันสิทธิด้านอาหารปลอดภัย กระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบ และสนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เพื่อสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคทุกคน