สภาผู้บริโภค ผนึกกำลังพันธมิตรยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภค เร่งช่วยผู้บริโภคทันที

Getting your Trinity Audio player ready...

สภาผู้บริโภค จับมือ 5 องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค สปน. สคบ. สสส. สช. และ มวคบ. ร่วมพัฒนาศักยภาพองค์กรของผู้บริโภค หวังขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุม เพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างทันท่วงที

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และ มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการบูรณาการเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค” เพื่อประสานความร่วมมือในการบูรณาการในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค

พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของ 6 องค์กรในครั้งนี้ จะช่วยอุดช่องโหว่ของงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ครบทุกมิติและลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน เนื่องจาก สคบ.เป็นหน่วยงานกลางในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกมิติจึงต้องเกี่ยวข้องและร่วมมือกับทุกหน่วยงานในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้ง ยังมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อขยายฐานงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ ให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ส่วน ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงจากสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. กำหนด 3 ยุธศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและพัฒนาระบบยา คือ 1. พลังนโยบายผลักดันการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 2. พลังวิชาการ พัฒนามาตรการควบคุมสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ 3. พลังสังคม หนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ในการลงนามครั้งนี้ สสส. มีบทบาทสนับสนุนและร่วมพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคให้มีคุณภาพ ทั้งการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ทรัพยากรต่าง ๆ และสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพให้มีบทบาทร่วมพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยจะขยายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดต่าง ๆ ให้มากขึ้น
ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ สช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สช. ได้มีการจัดเวทีพุดคุยหารือ โดยยกกรณีการให้บริการสุขภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อหาคำตอบร่วมกันว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคถูกระบุไว้ในธรรมนูญสุขภาพของพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีการลงนามความร่วมมือกันเกิดขึ้น หวังว่าในอนาคตจะเกิดการพัฒนาระบบ หรือกฎหมาย ที่จะมาช่วยคุ้มครองประชาชนร่วมกัน ให้เกิดความเท่าทัน และตอบสนองที่ทันต่อเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีระบบออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดการบูรณาการระบบ มีกลไกธรรมาภิบาลและเกิดการมีส่วนร่วมร่วมกัน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภค เป็นองค์กรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจในการเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย ดังนั้น การมีสภาผู้บริโภคจะทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยัง ส่งเสริมให้เกิดองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็งอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีสมาชิกองค์กรของผู้บริโภคอยู่ใน 40 จังหวัดและตั้งเป้าหมายให้มีทุกจังหวัดต่อไป

ในแง่ของการทำงาน เลขาธิการสภาผู้บริโภคเน้นว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคทำงานร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัดในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนองค์กรสมาชิกในระดับจังหวัด นอกจากนี้ หน่วยงานประจำจังหวัดยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่อีกด้วย ในการลงนามครั้งนี้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดกลไกองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็งมากขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิ จะมีระบบ มีการวางแผนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงคาดหวังว่าองค์กรที่ถูกรับรองโดยศูนย์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จะสามารถจดแจ้งเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภค ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ทางด้าน พิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการ สปน. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปน.มีหน้าที่รับเรื่องจดแจ้งสมาชิกองค์กรของผู้บริโภค ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และได้จัดงบสนับสนุนในการจัดตั้งองค์กร เมื่อได้ลงนามในครั้งนี้บทบาทหน้าที่ของสปน. คือทุกองค์กรต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคมีคุณภาพและขยายจำนวนเครือข่ายเยอะขึ้น และเป้าหมายของสปน.คือการมีสมาชิกองค์กรให้ถึง 500 แห่ง โดยเชื่อว่าเมื่อมีองค์กรสมาชิกมากก็จะทำให้มีความเข้มแข็งที่จะช่วยเหลือคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ภก. วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธาน มวคบ. กล่าวว่าหน้าที่หลักของ มวคบ. คือการทำงานด้านวิชาการในเรื่องสุขภาพ งานทดสอบต่าง ๆ เช่น เรื่อง การทดสอบสารตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยว ซึ่งในการทดลองต่าง ๆ ทาง มวคบ. ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้องค์กรของผู้บริโภคได้รับความเชื่อถือ สามารถดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ ในการลงนามครั้งนี้ มวคบ. พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนสภาผู้บริโภคและทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค