ฝันร้ายหน้าร้อนปี 2566 ที่ประชาชนเจอวิกฤติค่าไฟฟ้าพุ่งยังไม่ทันเลือนหาย หน้าร้อนปี 2567 ก็กำลังจะมาถึง แต่ดูเหมือนประเทศไทยยังไม่มีการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรมได้อย่างถาวร ยกเว้นการกดราคาค่าไฟฟ้าชั่วคราว แต่นักวิชาการด้านพลังงานในเวทีเสวนา ชี้ว่าถ้ารัฐบาลกล้าตัดสินใจเดินในสองเส้นทางคือ การนำนโยบายให้เน็ตมิเตอร์ริง หรือระบบหักลบหน่วยไฟฟ้ามาใช้กับหลังคาโซลาร์ และนำประเทศเข้าสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี วิกฤติค่าไฟฟ้าจะกลายเป็นเรื่องในอดีต
ข้อคิดเห็นดังกล่าวปรากฎในเวทีเสวนา “ไทยพร้อมหรือยัง กับการคิดค่าไฟแบบเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ในสภาวะค่าไฟแพง” ที่จัดโดย สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และ ดาต้า แฮทช เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา
รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม จากสภาผู้บริโภค ได้เสนอโมเดลสำหรับตลาดไฟฟ้าเสรี คือ ระบบเน็ตมิเตอร์ริงหรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า โดยระบบเน็ตมิเตอร์ริงจะมีการนำปริมาณไฟฟ้าที่บ้านเรือนใช้มาหักลบด้วยปริมาณไฟฟ้าที่บ้านเรือนสามารถผลิตได้จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และเมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ ไฟฟ้าจะไหลกลับไปยังสายส่งที่ส่งไฟให้บ้านเรือน โดยไฟฟ้าที่ไหลกลับจะไปหมุนมิเตอร์ไฟฟ้าที่นับปริมาณไฟที่บ้านเรือนใช้ จนทำให้ปริมาณไฟที่ใช้ถูกหักจากมิเตอร์ที่หมุนกลับไปตามปริมาณไฟที่บ้านเรือนสามารถผลิตได้และส่งกลับมายังระบบไฟฟ้า หรือหากอธิบายง่ายๆ คือ ใช้มิเตอร์ตัวเดียว บวกหน่วยไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ในบ้านขณะที่หลังคาโซลาร์ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก และหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ไหลเข้ามาจากการไฟฟ้าในตอนกลางคืน บวกและลบทุกวัน จนได้จำนวนหน่วยสุทธิที่ใช้ไปในทุก ๆ สิ้นเดือน ซึ่งระบบนี้จะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านหลังคาโซลาร์อย่างเต็มที่ ที่มีผลทำให้ลดค่าไฟฟ้าอย่างถาวร
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยยังใช้ระบบเน็ตบิลลิ่ง (Net Billing) หรือระบบการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะรับซื้อไฟฟ้าตามบ้านจากการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ตามราคาที่กำหนด ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ กกพ. กำหนดขายให้ประชาชน ระบบดังกล่าวจึงไม่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในการเลือกติดโซลาร์เซลล์ โดยกรอบเงื่อนไขดังกล่าวมีดังนี้ 1. ราคารับซื้อไฟฟ้าของ กกพ. ที่ให้บ้านเรือนขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าในราคาต่ำกว่าราคารับซื้อเป็นอย่างมาก 2. ระยะเวลาสัญญาการซื้อขายที่จำกัด 3. โควตาการรับซื้อไฟฟ้า ที่กีดกันการรับซื้อจากบ้านเรือนเมื่อปริมาณรับซื้อเกินโควตา และ 4. ข้อกำหนดการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่สร้างความยุ่งยากให้กับบ้านเรือน
รศ.ดร.ชาลี ได้ย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนจากนโยบายเน็ตบิลลิ่งที่มีเงื่อนไขไม่เป็นธรรม ไปเป็นระบบเน็ตมิเตอร์ริงที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งบ้านเรือนที่ผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์และบ้านเรือนที่ไม่ติดโซลาร์เซลล์ เพราะในระดับครัวเรือน บ้านที่ติดโซลาร์เซลล์จะสามารถใช้ประโยชน์จากการหักลบหน่วยพลังงานที่ใช้ด้วยพลังงานที่ผลิตได้ ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟที่ใช้ในแต่ละวัน และในขณะเดียวกันในระดับประเทศเมื่อปริมาณไฟฟ้าที่ประชาชนสามารถผลิตใช้เองเพิ่มมากขึ้น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากต่างประเทศที่ต้นทุนมีความผันผวนสูงจะลดลง ทำให้ราคาค่าไฟโดยรวมของประเทศลดลงด้วยเช่นกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือประเทศไทยจำเป็นต้องมีจำนวนโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นอีกถึง 70 เท่า จากจำนวนปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ได้ ดร.ชาลียืนยันว่าปัจจุบันประเทศไทยยังห่างไกลจากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างมาก และจะไม่สามารถบรรลุได้เลยถ้าหากประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากการติดโซลาร์เซลล์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดไฟฟ้าเก่า เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันครั้งนี้ได้ เพราะ กฟภ. และ กฟน. สามารถเป็นหน่วยงานตั้งต้นที่ลงทุนติดโซลาร์เซลล์ให้กับประชาชน จากนั้นให้ประชาชนสามารถผ่อนจ่ายโซลาร์เซลล์รวมกับค่าไฟ เมื่อหักลบกับปริมาณไฟฟ้าที่บ้านเรือนผลิตได้ ประชาชนจึงจะสามารถรักษาค่าไฟให้คงที่ แต่สามารถผ่อนจ่ายโซลาร์เซลล์จนสามารถผ่อนได้หมดและลดค่าไฟในที่สุดเมื่อบ้านเรือนผ่อนค่าโซลาร์เซลล์ได้จนหมด
ทั้งนี้ ดร.ชาลี ทิ้งท้ายไว้ว่า เพื่อลดความกังวลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มองว่าการติดโซลาร์เซลล์จะเป็นการลดปริมาณภาษีมูลค่าเพิ่มที่กระทรวงทรัพยากรฯ สามารถเก็บได้จากค่าไฟรายเดือน ดร.ชาลีระบุว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ยังสามารถเก็บภาษีเหล่านี้ได้ ตั้งแต่การที่ประชาชนลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นภาษีก้อนใหญ่ที่สามารถเก็บล่วงหน้าได้เพื่อทดแทนการเก็บภาษีก้อนเล็กรายครั้งในค่าไฟได้เหมือนกัน
ด้าน ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ มีความเห็นว่า การแก้ปัญหาสภาวะค่าไฟแพงของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นเพียงระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุดันให้ค่าไฟกลับขึ้นมาราคาสูงขึ้นอีกได้ทุกเมื่อ ถ้าหากไม่มีมาตรการระยะยาวที่แก้ปัญหาโครงสร้างราคาค่าไฟที่ตรงจุด โดยชี้ให้เห็นว่า ในแง่หนึ่งปัญหาค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นของปีก่อนหน้าอาจมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนจากความต้องการในตลาดที่สูง จนกลายเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในไทยที่สูงตามมา และสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าทะยานขึ้นมาโดยตลอดมีส่วนมาจากการทำสัญญาที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน และกลับมาแฝงอยู่ในค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที (Ft) ที่อยู่ในบิลค่าไฟฟ้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด โดยปัจจุบันรัฐบาลไทยจำเป็นต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายทั้งหมด 2,200 ล้านบาทให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยทั้งหมด 6 โรงงาน เมื่อผนวกกับการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากตลาดโลกที่มากจนเกินไปของประเทศไทย นั่นยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยการยืดเวลาชำระหนี้ให้กับ กกพ. อาจไม่สามารถแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าได้เลยหากโครงสร้างค่าไฟไม่ถูกปรับให้เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาพลังงานที่ไม่ยั่งยืนของไทยยังกระทบต่อความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศและจะกระทบกับเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เนื่องจากมาตรฐานการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศในปัจจุบันเมื่อนับรวมกับการให้บริการพลังงานสะอาดกับบริษัทผู้ลงทุน พบว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถดันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากเท่าที่ควร ดร.อารีพร ได้แสดงความกังวลอีกว่า ประเทศไทยประกาศจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 นั่นแปลว่าประเทศไทยควรมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึงร้อยละ 74 แล้ว แต่ปัจจุบันไทยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้น นโยบายพลังงานทางเลือกของประเทศไทยที่เชื่องช้า จึงทำให้ประเทศอยู่ในสถานะที่ลำบากทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจโลก
“สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายพลังงานทางเลือกยังไม่ถูกผลักดันอย่างจริงจังและจริงใจเท่าที่ควร มาจากตลาดพลังงานที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ไม่กี่เจ้า และข้อกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับการผูกขาด” ดร.อารีพร ระบุ
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบไฟฟ้าแบบระบบผู้ค้ารายเดียว ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่ ก่อนขายส่งกับ กฟภ. และ กฟน. เพื่อเดินสายส่งไฟฟ้าแบบขายปลีกตามบ้านเรือนต่อไป (Enhanced Single-Buyer System) ทำให้ทางเลือกพลังงานของประชาชนน้อยลงและทำให้ประเทศต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างชาติ ในขณะที่นวัตกรรมหลายประเทศทั่วโลกต่างเอื้อให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก ใช้ และยังสามารถขายปลีกเองได้
ดังนั้น ดร.อารีพร ได้เสนอทางออกการแก้ปัญหาโครงสร้างค่าไฟที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการเปิดระบบตลาดไฟฟ้าเสรีที่เปิดให้ผู้ค้าพลังงานทั้งรายเล็กรายใหญ่มีส่วนในตลาดพลังงาน เพื่อเพิ่มการแข่งขันและนำไปสู่การลดราคาค่าไฟ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกให้ได้มากในที่สุด อย่างไรก็ตาม การเปิดระบบตลาดไฟฟ้าเสรี ที่ผู้ค้ารายเล็กรวมไปถึงบ้านเรือนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์และสามารถเป็นผู้ขายปลีกในตลาดไฟฟ้าร่วมกับ กฟภ. และ กฟน. นอกจากเน็ตมิเตอร์ริง ยังมีบางรูปแบบที่มีการอนุญาตให้บ้านเรือนผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าสามารถต่อสายรับส่งไฟได้โดยตรงได้ด้วย ซึ่งการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีที่มีการควบคุมราคาไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมจึงสร้างตัวเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกแหล่งไฟฟ้าที่ต้องการได้ตามราคาที่มีการแข่งขันกันอย่างเหมาะสม
สุดท้าย วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเป็นพลังงานสะอาดว่า ต้องเกิดควบคู่กับการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นต้นทุนการผลิตไฟฟ้ายังคงสูง และสุดท้ายจะกลายเป็นภาระที่ประชาชนจำเป็นต้องจ่ายมากขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ตลอดการทำงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา พบว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานรายใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อมีการผลักดันพลังงานทางเลือก รัฐบาลมักจะเลือกประมูลพลังงานกับกลุ่มทุนรายใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ด้วยหลักเกณฑ์การประมูลที่คลุมเครือ ทำให้ผู้เล่นในตลาดพลังงานยังคงจำกัดและทำให้ราคาไฟฟ้าที่ประชาชนบริโภคยังคงสูงเมื่อไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น
นอกจากนี้ วรภพย้ำให้มีการจับตามองการแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่พรรครัฐบาลเคยหาเสียงไว้ด้วย เช่น นโยบายพลังงานและการปรับลดค่าไฟเป็นหนึ่งในนโยบายหลายพรรคเคยให้สัญญาไว้ แต่หลายขั้นตอนสู่เป้าหมายทางพลังงานกลับกระทบกับหลายภาคส่วนจนทำให้รัฐบาลไม่กล้าขยับ ดังนั้น วรภพจึงขอให้ภาคประชาชนช่วยกดดันให้รัฐบาลเด็ดขาดกับการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานเพื่อแก้ปัญหาตามสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้กับประชาชน
รับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=fvgpKqsxv-I