สภาผู้บริโภคหารือร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สนับสนุนการรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 พร้อมตั้งเป้าหมายร่วมกันต้องมีองค์กรของผู้บริโภคให้ครบทั่วประเทศ ภายในปี 2568
วันนี้ (6 มีนาคม 2567) วีราภรณ์ ชินวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) หารือร่วมกับสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค ในประเด็นสนับสนุนการรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกที่ผ่านการรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค รวมทั้งหมด 342 องค์กร (ปัจจุบันองค์กรเหล่านี้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง) แต่สภาผู้บริโภคยังพบว่ามีจังหวัดที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาผู้บริโภคถึง 33 จังหวัด ทั้งนี้ จึงตั้งเป้าหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีความคิดเห็นว่า หากมีองค์กรผู้บริโภคครบทั่วประเทศจะสามารถยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึงผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ในประเด็นข้างต้นสภาผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงปัญหาการยื่นจดแจ้งการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรของผู้บริโภค 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ยื่นจดแจ้งระบบออนไลน์ พบว่า การบันทึกข้อมูลไม่มีความเป็นปัจจุบัน ส่งผลให้ข้อมูลสูญหายต้องลงทะเบียนหลายครั้ง, ขาดช่องทางการประสานงานเพื่อติดตามสถานะระหว่างสภาผู้บริโภคกับสำนักกิจการองค์กรของผู้บริโภค 2. ความเข้าใจและการตีความคุณสมบัติองค์กรของผู้บริโภคที่มีต่อนายทะเบียนที่ส่งผลให้ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนของแต่ละองค์กร อาทิ มาตรฐานการพิจารณาคุณสมบัติองค์กรผู้บริโภคและผลงานขององค์กรที่เป็นที่ประจักษ์ การพิจารณาหรือการอธิบายเหตุผลไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของนายทะเบียน 3. ความพร้อมของนายทะเบียนจังหวัด ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในแต่ละจังหวัด ในการรับจดแจ้งการขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่ อาทิ การดำเนินงานและประสานงานระหว่างนายทะเบียนจังหวัดกับนายทะเบียนที่ล่าช้าและส่งผลต่อการดำเนินงานที่ต่อเนื่องขององค์กรผู้บริโภค
ขณะที่ วีราภรณ์ ชินวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สปน. กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหาจดแจ้งการขึ้นเป็นองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าว และจะนำไปปรับปรุงระบบให้การจดแจ้งสะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพ และเพิ่มจำนวนองค์กรของผู้บริโภคให้มากขึ้นเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เป้าหมายของ สปน. ตรงกับสภาผู้บริโภค ในเรื่องของการพยายามจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคให้ครบทั่วประเทศ และเป้าหมายของ สปน. ในปี 2568 ได้แก่ การจัดทำตัวชี้วัดขององค์กรผู้บริโภคที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว โดยทำเป็นองค์กรดีเด่นหรือองค์กรต้นแบบ หากผ่านพิจารณาในเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาจมีการมอบโล่ เกียรติบัตร เพื่อเป็นมาตรฐานและได้ติดตามการดำเนินงานขององค์กรที่ได้ขึ้นทะเบียนอีกด้วย” วีราภรณ์ ระบุ