สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หารือแนวทางความร่วมมืองานคุ้มครองผู้บริโภค กับ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุ กรรมการแต่ละชุดของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ควรผลักดันผู้แทนผู้บริโภคเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อพิทักษ์สิทธิและคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนประเด็นการซื้อขายออนไลน์ เสนอ สคบ. ต้องให้ผู้ขายออนไลน์ทุกรายขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าตลาดแบบตรงทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใด ชี้ การขึ้นทะเบียนผู้ขายเพิ่มความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ติดตาม ตรวจสอบได้เมื่อเกิดปัญหา ด้าน สคบ. พร้อมบูรณาการความร่วมมือเพื่อความเข้มแข็งของงานคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และ ไพบูลย์ ช่วงทอง คณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค หารือแนวทางความร่วมมืองานคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. และ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในประเด็นการเพิ่มสัดส่วนของผู้แทนผู้บริโภคเข้าไปยังคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคมีข้อเสนอมานั้น เห็นว่า ทั้ง สคบ. และสภาองค์กรของผู้บริโภค ควรศึกษาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอีกครั้งของแต่ละองค์กรอีกครั้งและหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณองค์ประกอบหน้าที่ต่าง ๆ ว่าจะมีจุดที่สามารถเชื่อมโยงงานคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มแข็งมากกว่านี้ได้หรือไม่ เนื่องจากแต่ละองค์กรมีอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายอยู่แล้ว
ด้าน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สอบ. เป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย ดังนั้น ในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควรให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมตามการเป็นตัวแทนตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการสร้างร่วมมือ โดยการข้อตกลง (MOU) กับภาคเอกชนจะช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น MOU ความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ ที่ร่วมมือกับตลาดออนไลน์ (E-Marketplace) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้มีช่องทางพิเศษสามารถแก้ไขปัญหาการซื้อขายออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในกรรมการแต่ละชุดของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ควรมีการผลักดันผู้แทนผู้บริโภคเข้าไปทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกรรมการเพื่อพิทักษ์สิทธิและคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่สำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติมีการผลักดันให้เกิดตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปทำหน้าที่ในทุกระดับ แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นสัดส่วนของผู้แทนผู้บริโภคที่เข้าไปเป็นตัวแทนอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ในคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ของ สคบ. ก็ยังไม่มีผู้แทนผู้บริโภค นอกจากนี้ ในประเด็นของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ระบุเงื่อนไขการจดทะเบียนว่าผู้ขายรายใดที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายสินค้าและต้องวางเงินหลักประกันไว้กับ สคบ. นั้น เห็นว่าทำให้เกิดปัญหาการซื้อขายออนไลน์ตามมาจำนวนมาก
“หากเกิดปัญหาการซื้อขายออนไลน์จากผู้ขายสินค้าที่มีรายไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้จดทะเบียนผู้ขายสินค้า จะทำให้ผู้บริโภคและหน่วยงานไม่สามารถติดตามตัวผู้ขายสินค้าได้ และอาจทำให้การชดเชยเยียวยาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเห็นว่าผู้ขายออนไลน์ทุกรายจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายสินค้าตลลาดแบบตรงทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใด เพราะการขึ้นทะเบียนจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้ขาย เพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค เมื่อเกิดปัญหาสามารถติดตาม ตรวจสอบได้” สารี กล่าว
ทั้งนี้ สารี ย้ำว่า ปัจจุบันตลาดออนไลน์มักให้ผู้ขายลงทะเบียนกับแพลทฟอร์มอยู่แล้ว ปัญหาการหลอกลวงจึงอาจจะไม่มากเท่ากับผู้ที่ขายสินค้าในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หากกฎหมายบังคับให้ผู้ขายทุกคนต้องขึ้นทะเบียนจะช่วยกรองผู้ขายที่ขายสินค้าในสื่อสังคมออนไลน์ได้มากขึ้นและปัญหาการหลอกลวงอาจจะลดลงได้
ส่วน ชูเนตร ศรีเสาวชาติ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคมีความสำคัญและควรทำให้ชัดเจนขึ้น และเห็นว่าการให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วยจะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลในการทำงานเชื่อมโยงระหว่างกันได้ อีกทั้งจะทำให้สององค์กรมีเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคที่เชื่อมโยงกันและร่วมกันทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ข้อเสนอความร่วมมือกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีดังนี้
หนึ่ง ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคปรับปรุงคณะกรรมการหรืออนุกรรมการคณะกรรมการฯ ที่ยังขาดองค์ประกอบของผู้แทนผู้บริโภค ให้มีตัวแทนผู้บริโภคและมีสัดส่วนที่ชัดเจน
สอง ขอให้มีการนำร่องความร่วมมือในระดับจังหวัดกับหน่วยงานประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค ในรูปแบบคณะทำงานร่วมใน 7 จังหวัด ในทุกภูมิภาคเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
สาม ผู้ค้า หรือผู้ใดที่ต้องการขายของออนไลน์ทุกรายจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายสินค้าตลาดแบบตรงกับหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ควรกำหนดเฉพาะผู้ค้าที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น เมื่อมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว แสดงว่าผู้ค้านั้นมีตัวตนตามกฎหมาย สามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดได้ ปัญหาการหลอกลวงต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง และควรกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการขนส่ง ให้ผู้บริโภคมีสิทธิตรวจสอบสินค้าก่อนชำระเงิน มีการกำหนดเวลาให้ผู้ให้บริการขนส่งเก็บรักษาเงินของผู้บริโภคไว้ระยะเวลาหนึ่งก่อนส่งมอบให้ผู้ส่ง เพื่อป้องกันความเสียหายจากการฉ้อโกงหลอกลวงของผู้ส่ง
สี่ การร่วมกันจัดทำความร่วมมือ (MOU) กับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ หรือสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้ประกอบธุรกิจ ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการกู้ยืมเงิน เพื่อคืนเงินดาวน์ เงินจอง เมื่อผู้บริโภคกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ผ่าน), การกู้ยืมเงิน (ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด), การโฆษณาขายรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
ห้า การกำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เนื่องจากปัจจุบันสัญญาเช่าซื้อถูกจัดทำในรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่กำหนดโดยผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายเดียว และพบว่ามีการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในหลายประการ เช่น กำหนดให้ทรัพย์สินของผู้เช่าซื้อและของบริวารของผู้เช่าซื้อที่นำเข้ามาในบ้านที่เช่าซื้อได้อยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่าซื้อ และผู้ให้เช่าซื้อสามารถยึดหน่วงหรือจำหน่ายทรัพย์ดังกล่าวได้ทันทีเพื่อชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายที่ค้างชำระ กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิตัดน้ำตัดไฟ ปิดประตูล็อกกุญแจบ้านที่เช่าซื้อได้ หากมีการผิดนัดชำระค่างวด เป็นต้น
หก การร่วมกันผลักดันกฎหมายสำคัญที่ยังไม่มีและจำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การผลักดันให้รัฐมีนโยบายบริการขนส่งสาธารณะไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ของประชาชน, การยุติกัญชาเพื่อสันทนาการและการกำกับอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม, การลดอุปสรรคในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชน, การเก็บเงินเมื่อไปใช้บริการสาธารณสุขในกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือการใช้บริการทั่วไป (Extra Billing) เป็นต้น
เจ็ด ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง พ.ศ. …, (ร่าง) พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … เป็นต้น