ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทมาสด้า เรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ที่ผลิตในปี 2014 – 2018 ทุกคัน พร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภค หลังผู้บริโภค 9 คน รวมตัวฟ้องบริษัทเป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากพบปัญหาการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสั่น หรือเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น ซึ่งอาจเกิดอันตรายกับผู้ขับขี่ได้
วันนี้ (28 มีนาคม 2566) จิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้ดูแลคดีการฟ้องร้อง ‘มาสด้า 2’ เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ทุกคันที่ผลิตในปี ค.ศ. 2014 – 2018 (ปี พ.ศ. 2557 – 2561) เข้ามาซ่อมแซม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ขับขี่ได้
นอกจากนั้นยังได้กำหนดให้บริษัทฯ ต้องชดใช้ราคาค่าซ่อมตามจริง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจรายละ 30,000 บาท อีกทั้งบริษัทฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง หลังจากที่ผ่านมาผู้บริโภคจำนวน 9 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทมาสด้าเป็นคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เนื่องจากพบปัญหาเรื่องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเครื่องสั่น หรือปัญหาเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์จากคำพิพากษาของศาลที่ออกมานั้นเป็นเรื่องที่ดีและเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่จะต้องรับผิดชอบกับผู้บริโภคหรือลูกค้าของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเมื่อไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะพยายามหลีกเลี่ยงและหลบหลีกความรับผิดชอบ
“ในหลาย ๆ คดี เมื่อเกิดเกิดสภาพบังคับโดยคำพิพากษาของศาลขึ้นและหากผู้ประกอบการหรือบริษัทไม่น้อมรับหรือไม่ปฏิบัติตาม อาจส่งผลให้ศาลชั้นสูงมองว่าเอาเปรียบผู้บริโภคและอาจมีคำสั่งลงโทษ โดยเพิ่มค่าเสียหายเชิงลงโทษโดยบริษัทจะต้องจ่ายให้กับผู้บริโภคอีก ซึ่งหลังจากนี้ผู้บริโภคต้องการเห็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง” จิณณะ ระบุ
นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลมองว่ารถยนต์เป็นสินค้าที่ใช้บนท้องถนนและหากเครื่องยนต์ของรถคันนั้น ๆ ชำรุดบกพร่องจะกลายเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงกับผู้ขับขี่และคนที่สัญจรบนท้องถนน ซึ่งการฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นอาจเรียกได้ว่าเป็นคดีกลุ่มแบบเปิด ที่ศาลคุ้มครองรถยนต์มาสด้า 2 รุ่นดังกล่าวทุกคันที่ผลิตในปี ค.ศ. 2014 – 2018 กล่าวคือ ผู้ที่ใช้รถยนต์ในรุ่นและปีการผลิตข้างต้นที่พบปัญหาการใช้งานถือว่าเป็นผู้เสียหายทั้งหมดและต้องได้รับการชดเชยเยียวยาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ใช้รถรุ่นนี้หลายรายพบปัญหาในการใช้งาน โดยเฉพาะจังหวะที่จะเร่งแซง แต่เครื่องยนต์กลับสั่น รวมถึงไม่สามารถเร่งเครื่องยนต์ขึ้นได้ ขณะที่บางรายมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากปัญหาเครื่องยนต์ และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง คนส่วนใหญ่จะมองว่าคนขับประมาท แต่ไม่มีใครรู้ว่าในความเป็นจริงแล้วเกิดจากปัญหาของเครื่องยนต์หรือรถยนต์ที่ขับ
จิณณะ ระบุทิ้งท้ายอีกว่า ในบางครั้งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภคอาจใช้ระยะเวลาที่มากและทำให้ผู้บริโภคเกิดความท้อแท้ แต่หากไม่เริ่มต้นก็อาจไม่เกิดความเป็นธรรมในอนาคตได้ ดังนั้น ในบางครั้งผู้บริโภคอาจต้องลงทุน ลงแรง และยอมสละเวลาที่จะหาพยานหลักฐานเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และเมื่อความเป็นธรรมเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือจะเกิดเป็นมาตรฐานที่ดีขึ้น
“หากไม่เริ่มต้นและทนกับปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะไม่มีทางที่จะได้มาตรฐานที่ดีขึ้นได้ เพราะผู้ประกอบการจะคิดแต่เพียงแต่เรื่องของผลกำไร ซึ่งเขาจะไม่ได้คิดถึงความรับผิดชอบ ดังนั้น เราในฐานะผู้บริโภคต้องตระหนักถึงความสำคัญในการใช้สิทธิของผู้บริโภคให้มากขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างบรรทัดฐานให้ดีขึ้น” จิณณะ ระบุ
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่ใช้รถรุ่นดังกล่าวเก็บหลักฐานการซ่อมรถทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่ระบุอาการเครื่องสั่น เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น รวมถึงใบเสร็จค่าซ่อมรถยนต์ทั้งหมด และรอติดตามความคืบหน้าการประกาศรับชำระหนี้จากศาลต่อไป ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จะรายงานความคืบหน้าให้ผู้บริโภคทราบต่อไป