สภาผู้บริโภค สนับสนุนไทยแพน เรียกร้อง ‘คกก.วัตถุอันตราย-กรมวิชาการเกษตร-สธ.’ เร่งหามาตรการจำกัดการใช้หรือยกเลิกขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายทางการเกษตร เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค ด้านไทยแพน ระบุ ในสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้ใช้ ‘แมนโคเซบ’ แล้ว ชี้หากผู้บริโภคได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะตกค้างและเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์ – ระบบต่อมไร้ท่อในมนุษย์
วันนี้ (12 มกราคม 2566) ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จากการที่มีผู้แชร์คลิปวิดีโอต้นหอมที่พบคราบสีฟ้า และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : ไทยแพน) ได้ออกมาระบุว่าสารปนเปื้อนที่พบนั้นอาจเป็นสารแมนโคเซบ (Mancozeb) ซึ่งแม้ว่าจะมีพิษเฉียบพลันจากการกินเข้าไปในระดับน้อย (Acute Toxicity) แต่หากรับประทานพืชผักที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวอยู่เป็นประจำจะก่อให้เกิดพิษระยะยาวได้ (Chronic Toxicity) เพราะสารดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และยังเป็นอันตรายต่อทารก อีกทั้งยังไปรบกวนระบบต่อมไร้ท่อในมนุษย์
ดังนั้น สภาผู้บริโภค จึงสนับสนุนไทยแพนในการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงสาธารณสุข เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาหามาตรการในการจำกัดการใช้หรือยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารดังกล่าวโดยด่วน รวมทั้งให้นำข้อมูลสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายมาพิจารณาหามาตรการจำกัดการใช้หรือยกเลิกการใช้เช่นเดียวกันด้วย
ด้าน ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : ไทยแพน) กล่าวว่า สารแมนโคเซบเป็นสารกำจัดโรคพืชหรือสารกำจัดเชื้อรา ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศไม่อนุญาตให้มีการใช้สารชนิดนี้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในยุโรป ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 และอาจขยายการใช้ต่อไปได้แต่ต้องไม่เกินวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากสารนี้มีความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และเป็นอันตรายต่อทารก โดยเฉพาะการเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ประเภท 1B อีกทั้งมีผลต่อการรบกวนระบบต่อมไร้ท่อในมนุษย์ อีกทั้งมีความเป็นพิษร้ายแรงต่อสัตว์น้ำ
ในกรณีของต้นหอมที่ใช้มือจับรูดแล้วมีสารสีฟ้าติดมือนั้น คาดว่าเกิดจากการมีสารเคมีกำจัดโรคพืชตกค้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารแมนโคเซบ แม้ว่าปกติสารนี้จะออกฤทธิ์โดยการสัมผัสไม่ใช่ดูดซึม ก็มีบางงานวิจัยพบการตกค้างของแมนโคเซบในเนื้อของผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ลำไย รวมถึงแตงกวาที่ปอกเปลือกแล้ว สำหรับผู้บริโภคสามารถล้างแมนโคเซบที่ตกค้างบนผักผลไม้ได้บางส่วนด้วยน้ำเปล่า และการใช้สารบางชนิดช่วย เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ คลอรีนไดออกไซด์ รวมถึงการปอกเปลือก และการล้างด้วยน้ำเปล่าแล้วนำไปผ่านความร้อน จะขจัดแมนโคเซบได้มากกว่า
แต่ทั้งนี้ประสิทธิภาพการขจัดสารแมนโคเซบของแต่ละวิธียังขึ้นอยู่กับชนิดผักผลไม้ด้วย และสำหรับส่วนที่ตกค้างในเนื้อของผักหรือผลไม้นั้นคงยากที่จะขจัดออกและมีโอกาสสูงที่ผู้บริโภคจะได้รับสารที่เป็นอันตรายนี้
ปรกชล กล่าวอีกว่า จากประเด็นปัญหาข้างต้น ไทยแพนเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการแมนโคเซบและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูงอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค
“นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรมีข้อมูลสถานการณ์การจำหน่าย การใช้ ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการตกค้าง ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อัปเดตข้อมูลวิชาการและนโยบายการควบคุมในต่างประเทศ
มีการประเมินความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ จัดทำเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการข้างต้น เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้ทันท่วงที และหากพบว่าสารใดมีความเป็นอันตรายมากเกินไปหรือไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ ก็ต้องมีกระบวนการทบทวนเพื่อพิจารณาจำกัดการใช้หรือยกเลิกการใช้” ปรกชล กล่าว
นอกจากนี้ ข้อห่วงใยที่เร่งด่วนไม่แพ้กรณีที่เป็นข่าว คือ การตกค้างของสารกำจัดโรคพืชคาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ซึ่งออกฤทธิ์โดยการดูดซึมในพืช (Systemic Fungicide) เป็นสารที่ก่อกลายพันธุ์ เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์โดยเฉพาะของเพศชาย และทำให้ทารกพิการ เป็นสารที่ไทยแพนพบการตกค้างสูงที่สุดในผักผลไม้ปี 2565 รวมถึงพบการตกค้างในเนื้อส้มสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่าง และ 50 เปอร์เซ็นต์ ของตัวอย่างน้ำส้มที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคแล้วจะไม่สามารถล้างหรือจัดการได้เลย สารชนิดนี้ถูกห้ามใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา
และล่าสุดคือบราซิลประกาศห้ามใช้เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว และจะมีผลบังคับใช้กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ทางไทยแพนจะดำเนินการเสนอให้กรมวิชาการเกษตรและคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกการใช้สารนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ปรกชล ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ผู้บริโภคตื่นตัว ช่างสังเกต ตั้งข้อสงสัย และค้นหาข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนให้ระบบเกษตรและอาหารมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
“การที่ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอจะทำให้สามารถเลือกตัดสินใจบริโภคได้ รวมถึงยังสามารถส่งเสียงให้ภาครัฐออกมาดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางอาหาร ความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ และการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” ปรกชล กล่าว