เมื่อพูดถึงการซื้อ ‘ของใหม่’ แน่นอนว่าเราทุกคนต่างคาดหวังว่าของนั้น ๆ จะต้อง “ไม่พังตั้งแต่แกะกล่อง” แต่ชีวิตจริงที่หลายคนพบก็คือเมื่อนำของใหม่ออกมาใช้ก็พบว่าพังหรือชำรุดใช้การไม่ได้ทันที ซึ่งปัญหาการใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพนี้ไม่เพียงสร้างความปวดหัวให้ผู้บริโภค แต่ยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและถูกต้องตามสัญญาที่ทำไว้อีกด้วย อย่างไรก็ตามกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ “เลม่อน ลอว์” หรือ ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในสินค้าใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมาย คือ ความหวังว่าจะมีการคืนความยุติธรรมให้กับผู้บริโภคไทย
ซื้อของมาใหม่ แต่ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีกไม่รู้จบ
ในช่วงปี พ.ศ. 2553 – 2558 ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่พบปัญหาซื้อรถใหม่ได้รถชำรุด ได้มีการรวมกลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้บริษัทรถยนต์รับผิดชอบแก้ไขซ่อมแซมรถยนต์ให้ใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งปัญหาที่พบมีหลายประการเช่น เครื่องยนต์สั่นหรือเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น แม้บริษัทได้ซ่อมแซมตามที่ผู้บริโภคแจ้งไปแจ้งหลายครั้ง แต่เมื่อผู้บริโภคนำรถยนต์มาใช้งานยังพบอาการผิดปกติเหมือนเดิม และเมื่อกลุ่มผู้บริโภคยืนยันที่จะจ่ายเงินเพิ่มให้บริษัทเพื่อให้บริษัทเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ที่มีสภาพสมบูรณ์กว่า แต่บริษัทรถยนต์ยังปฏิเสธที่จะนำรถกลับไปแก้ไขอีกครั้ง หรือเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้ผู้บริโภค
ช่วงปีเดียวกันสถานการณ์ปัญหาการชำรุดบกพร่องของสินค้าใหม่ โดยเฉพาะกรณีรถยนต์เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นจนได้รับความสนใจจากสาธารณะขึ้น เมื่อกลุ่มผู้บริโภคได้เดินหน้าร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กระทั่งหน่วยงานได้นำรถยนต์ที่เกิดปัญหาไปทดสอบและพบว่ารถยนต์มีปัญหาจริง เมื่อบริษัทรถยนต์ทราบข้อมูลเหล่านี้กลับรับซื้อรถยนต์คืนเพียง 3 คัน จากทั้งหมด 12 คันที่พบปัญหา
เมื่อเห็นว่าบริษัทรถยนต์ไม่แก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม ด้วยการเรียกคืนรถยนต์รุ่นที่พบข้อบกพร่องทั้งหมดไปแก้ไข ผู้เสียหายที่เหลือจึงตัดสินใจฟ้องร้องคดี ซึ่งในขณะนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยการช่วยดำเนินการด้านคดีและฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายที่พบปัญหาลักษณะเดียวกัน จนช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ชัยชนะเป็นของผู้บริโภค เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทมาสด้าเรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D1.5) ที่ผลิตในปี ค.ศ. 2014 – 2018 ทุกคัน พร้อมให้บริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับผู้ซื้อรถยนต์รุ่นดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหารถยนต์ชำรุดบกพร่องยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในอีกหลาย ๆ กรณี ทั้งกรณีที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้า (Honda) รุ่นแอคคอร์ด เจน 9 (Accord G9) และเอชอาร์ – วี (HR – V) พบปัญหาอะไหล่ปั๊มของระบบเบรกเอบีเอส (Anti – Lock Brake system : ABS) บกพร่อง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมความปลอดภัยในการขับขี่รถ เมื่อสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) นำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายยื่นเรื่องร้องเรียนมาตรฐานในการดูแลลูกค้าที่บริษัทสำนักงานใหญ่ซึ่งต่อมาภายหลังบริษัท ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาไปถึงตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคทันทีที่พบ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีผู้บริโภคสองรายถูกบริษัท นที ยูนิตี้ มอเตอร์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาสด้า ฟ้องดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทโดยระบุว่าผู้บริโภคทั้งสองได้กล่าวหาโจมตีบริษัทฯ ว่าไม่สามารถแก้ไขอาการเสียของรถยนต์ได้เปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่โดยไม่จำเป็นและเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางสื่อออนไลน์หลายช่องทาง บริษัทจึงเรียกค่าเสียหายจากผู้บริโภคกว่า 20 ล้านบาท โดยอ้างว่าข้อมูลที่ผู้บริโภคเผยแพร่ ทำให้บริษัทได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่สุดท้ายศาลยกฟ้องผู้บริโภคในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 นี้ โดยระบุว่าผู้บริโภคใช้สิทธิโดยสุจริต ที่สามารถพูดข้อเท็จจริงที่พบเจอออกมาได้โดยไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ประกอบการ แต่เป็นการปกป้องสิทธิรวมถึงผลประโยชน์ของตัวเองและสาธารณะ
“เลมอน ลอว์” คนขายต้องรับผิดชอบถ้าสินค้าชำรุดบกพร่อง
แม้ว่าจะมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคอยู่แล้ว อย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ที่ระบุไว้ว่า ‘ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิดความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่’
แต่กฎหมายที่มีอยู่ยังมีปัญหาหลายส่วนในการพิจารณาคดี เช่น การกำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่ไม่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อที่ยังคลุมเครือ หรือการยังไม่มีคำนิยามของคำว่า ‘ความชำรุดบกพร่อง’ จนนำมาซึ่งช่องโหว่ที่ทำให้บริโภคยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง และการดำเนินคดีกับผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายยังทำได้ยากและใช้ระยะเวลานาน และที่สำคัญคือผู้บริโภคที่ใช้สิทธิฟ้องคดีเองมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์จึงไม่สามารถเรียกร้องกับบริษัทรถได้โดยตรง และมักเกิดข้อสงสัยในความเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ทำให้การพิสูจน์ความชำรุดบกพร่องทำได้ยาก
ดังนั้น กรณีที่ผู้บริโภคฟ้องบริษัทรถยนต์ในครั้งนั้นจึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการยกร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสินค้าใหม่ หรือ “เลมอน ลอว์” (Lemon Law) โดยในปี พ.ศ. 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากฎหมายที่ให้ความคุ้มครองและเยียวยาผู้บริโภคเมื่อได้รับสินค้าชำรุดบกพร่องและออกมาเป็นร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สิทธิในการซ่อมแซม การเปลี่ยนสินค้า หรือการขอลดราคาสินค้าได้ และยังสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องได้รับการชดเชยเยียวยาหากมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้าและบริการด้วย ซึ่งสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตามร่างกฎหมายนี้ ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, รถยนต์ส่วนบุคคล, รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา
หลังจากถูกแช่แข็งมานาน กฎหมายฉบับนี้ก็ได้รับการปัดฝุ่นและถูกนำเข้าที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการ ต่อมาในเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2665 ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวและได้ถูกส่งต่อไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบขัดเกลาเนื้อหาของร่างกฎหมายอีกครั้ง โดยสาระสำคัญที่กำลังปรับแก้ไขอยู่ตอนนี้ เป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หากผู้บริโภคได้รับสินค้าชำรุดบกพร่อง สามารถใช้สิทธิซ่อม เปลี่ยนคืน หรือขอลดราคาสินค้าได้ โดยจะมีการกำหนดลักษณะความชำรุดบกพร่องของสินค้า สิทธิของผู้ซื้อสินค้าเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดของผู้ขายสินค้าในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การที่เรียกกันว่า “เลมอน ลอว์” หรือแปลตรง ๆ ได้ว่า “กฎหมายมะนาว” เป็นชื่อที่เกิดในต่างประเทศที่เป็นการเปรียบเทียบปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเวลาซื้อสินค้ามาใหม่เมื่อนำมาใช้งานกลับชำรุดบกพร่อง เหมือนกับผลมะนาว ที่เมื่อดูจากเปลือกภายนอกสีสดใสสวยงามชวนน่ากิน แต่เมื่อฝานเนื้อในออกมาชิมแล้วต้องเบ้ปาก เพราะความเปรี้ยวของมันทำให้ไม่สมราคา โดยเฉพาะเมื่อแจ้งผู้ประกอบการให้รับผิดชอบกลับยากเย็นแสนเข็ญ หรืออาจไม่ได้รับการแก้ไขอีกด้วย
ซ่อมไม่หาย ผู้บริโภคใช้สิทธิคืนรถ – ขอเงินคืนได้
ปัญหารถยนต์ไม่ปลอดภัยหรือชำรุดบกพร่องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะเห็นได้จากการเรียกคืนรถยนต์ในต่างประเทศครั้งละหลายล้านคัน และในหลายประเทศได้ใช้กฎหมายเฉพาะในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อรถใหม่มาแล้วระยะหนึ่ง จากข้อมูลงานวิจัยในหัวข้อ มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค : ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ซื้อรถยนต์ใหม่เปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ ของ ปิติคุณ เกสรินทร์ ได้สรุปข้อมูลไว้ว่า การที่ผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบจนถึงการฟ้องร้องคดีเป็นไปไม่ง่ายนัก เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายและใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้บัญญัติความรับผิดของบริษัท หากผู้บริโภคได้รับรถที่ชำรุดบกพร่องไว้ใน “เลมอน ลอว์” (Lemon Law) โดยที่บริษัทรถยนต์จะต้องซ่อมแซมหรือแก้ไขรถยนต์ให้ผู้บริโภค แต่หากยังซ่อมแซมให้เป็นปกติไม่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งรายละเอียดจะแตกต่างกันไปในแต่ละมลรัฐ เช่น รัฐมอนทานา (Montana) และรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ระบุว่า หากซ่อมแซ่มเกิน 4 ครั้ง ภายในระยะเวลา 30 วันและยังไม่ดีขึ้น บริษัทรถยนต์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่คืนให้กับผู้บริโภคหรือชดใช้เป็นเงินก้อน
ทั้งนี้ การที่กำหนดรายละเอียดในลักษณะนี้ขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องทนทุกข์หรือกังวลใจเกี่ยวกับความบกพร่องของรถยนต์ใหม่ที่มีปัญหาสารพัดอย่างและเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าจะต้องนำรถยนต์คันใหม่ไปให้บริษัทซ่อมแซมอย่างไม่จบสิ้นและอาการชำรุดบกพร่องยังไม่หายเป็นปกติเสียที ขณะที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้บัญญัติไว้ในบทบัญญัติที่ 4 ของกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค (The UAE’s Consumer Protection Law 2006) และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (The Implementing Regulations 2007) ส่วนประเทศแคนาดาได้บัญญัติประเด็นนี้ไว้ในหลักกฎหมายว่าด้วยความคุ้มครองสินค้าและผลิตภัณฑ์ (Product Liability)
ด้านฝั่งประเทศในทวีปเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่นได้บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยความคุ้มครองสินค้าและผลิตภัณฑ์ ปี ค.ศ. 1994 (The Product Liability Law 1994) ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นแนวหน้ากลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียนที่มีการออกกฎหมายชื่อ “เลมอน ลอว์” เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 โดยมองว่าการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและป้องกันไม่ให้สินค้าทุกประเภทที่ผู้บริโภคซื้อ เป็นเหมือนมะนาวนั่นเอง
หนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายเฉพาะของประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า หากภายใน 6 เดือน ผู้บริโภคพบความชำรุดของสินค้าซึ่งเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนการซื้อขาย สามารถแจ้งให้ผู้ขายซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่ได้ทันที นอกจากนี้ สินค้ามือสองยังได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน แต่อาจต้องตรวจสอบจากฐานของสิ่งที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว อายุ และราคาสินค้านั้น ๆ จะถูกพิจารณาร่วมกับจุดชำรุดบกพร่องที่สมเหตุสมผลประกอบด้วย เรียกได้ว่าการมีกฎหมายฉบับนี้ทำให้ประเทศสิงคโปร์จะได้รับการยอมรับในระดับสากล เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าสินค้าที่ซื้อไปเป็นสินค้ามีคุณภาพ
นอกจากประเทศสิงคโปร์ที่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการได้รับสินค้าชำรุดหรือบกพร่องแล้ว ในประเทศฟิลลิปปินส์เองนั้นได้มีการออกกฎหมายเฉพาะในลักษณะนี้ขึ้นมาเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2557 ด้วยเช่นกัน คือกฎหมาย The Philippines Lemon Law หรือ Republic Act No. 10642 ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเยียวยาเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่มีการซื้อขายกันในประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีขอบเขตการบังคับใช้เฉพาะกับรถยนต์ใหม่ที่เกิดความชำรุดบกพร่องภายในระยะเวลา 12 เดือน นับแต่วันส่งมอบแก่ผู้บริโภค หรือภายในระยะ 2 หมื่นกิโลเมตรแรก ซึ่งความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจะต้องไม่เกิดจากการกระทำของผู้บริโภค และผู้บริโภคมีสิทธิเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขซ่อมแซมยานยนต์หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างน้อย 4 ครั้ง หากไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิอื่นที่กฎหมายกำหนดได้ ทั้งการให้ศาลออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถยนต์ที่มีคุณสมบัติเดียวกันหรือเทียบเคียงกันได้ ให้ผู้บริโภคส่งรถคืนแก่ผู้ประกอบการและผู้ประกอบการคืนเงินจำนวนราคาค่ารถยนต์
ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มการแข่งขันในระดับสากล
เนื่องจากที่ผ่านมาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ที่มีการบังคับใช้เพื่อจัดการปัญหาชำรุดบกพร่องนั้นมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2472 อาจไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น สภาผู้บริโภค มองว่ารัฐบาลควรเร่งผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้สำเร็จ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าในประเทศไทยและเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองโดยเร็ว และต้องเร่งทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการรถยนต์โดยเร็ว เช่น หากซื้อรถยนต์จากประเทศไทยและมีปัญหาภายใน 6 เดือน จะต้องสามารถคืนรถได้ หรือหากซ่อมไปแล้ว 2 ครั้ง ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ ตามหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้
การผลักดันให้เกิดร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสินค้าใหม่ หรือ “เลมอน ลอว์” จะเป็นตัวช่วยตรวจสอบและทำให้สินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาดให้ได้มาตรฐาน ไม่ต้องมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการใช้สินค้าแล้วนั้นยังทำให้สินค้าของประเทศไทยสามารถแข่งขันในระดับสากล เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศจะถูกควบคุมด้วยกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งที่สำคัญ คือ เกิดการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคสู่ระดับมาตรฐานสากลอีกด้วย
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค
อ้างอิง
- http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/9244https://philkotse.com/safe-driving/lemon-law-philippines-10-most-faqs-of-filipino-car-owners-4337
- https://workpointtoday.com/newlaw2311/
- https://waymagazine.org/lemon-law/
- บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … (Lemon Law) จากสารวุฒิสภา เดือนธันวาคม 2563