“ซื้อของพัง ได้ของเสีย” กำลังจะเป็นอดีต เมื่อ Lemon Law กำลังเข้าสภา

Getting your Trinity Audio player ready...

ผู้บริโภคไทยที่ต้องทนกับการซื้อของใหม่ แต่ได้รับของเสีย ชำรุดบกพร่องโดยไม่สามารถ เปลี่ยน หรือคืนได้ กำลังจะพบว่าเหตุการณ์นั้นกลายเป็นอดีต เมื่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … หรือกฏหมาย “เลมอน ลอว์” ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกับของใหม่ที่เสียหาย กำลังจะเข้าสภาฯ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ซื้อของใหม่มาไม่กี่วัน ดันพังเสียก่อน แต่พอขอเคลมกลับถูกปัดความรับผิดชอบ กลายเป็นผู้บริโภคต้องควักจ่ายเพิ่มเอง สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และสะท้อนชัดว่า ประเทศไทยยังขาด “เลมอน ลอว์ (Lemon Law)” กฏหมายที่จะคุ้มครองผู้ซื้อสินค้าใหม่ แต่ได้รับของเสียที่ชำรุดบกพร่องตั้งแต่แกะกล่อง

นี่ไม่ใช่แค่เรื่องโชคร้ายของคน ๆ เดียว แต่คือประสบการณ์ซ้ำซากของผู้บริโภคจำนวนมากทั่วประเทศต้องเจอคือการซื้อของใหม่แต่ได้ของเสีย แล้วหาคนรับผิดชอบไม่ได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสังคมโลกจึงเรียกว่า “เลมอน ลอว์” หรือ “กฎหมายมะนาว” ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปกป้องผู้บริโภคที่เสียหายจากการได้รับสินค้าใหม่ป้ายแดงที่ “ชำรุดตั้งแต่แกะกล่อง” ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ต่างมีกฎหมายลักษณะนี้คุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถขอเปลี่ยนสินค้าใหม่ หรือคืนเงินได้โดยไม่ต้องกลายเป็นนักสืบหาความเป็นธรรมด้วยตัวเอง

ประเทศไทยเองแม้จะยังไม่มีกฎหมายนี้อย่างเป็นทางการ แต่ข่าวดีก็คือ… “(ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ….. หรือที่เรียกว่า เลมอน ลอว์ กำลังจะได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา

ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้ยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวและรวบรวมเสียงสนับสนุนจากประชาชนกว่า 23,705 รายชื่อ เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงแต่จะพลิกเกมส์อำนาจการซื้อขายในไทยจากผู้ขายไปสู่ผู้ซื้อ แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ใส่ใจสิทธิของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

และเรื่องนี้ก็ยังตรงกับประเด็นขับเคลื่อนขององค์กรผู้บริโภคทั่วโลกในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ปี 2025 ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งพูดถึง “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน” แนวคิดที่ฟังแล้วอาจดูใหญ่โต แต่ความจริง “วิถีชีวิตที่ยั่งยืน” เริ่มได้จากเรื่องเล็ก ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือเสีย หรือพัดลมที่พังหลังใช้ได้แค่ไม่กี่วัน ที่ผู้บริโภคต้องได้รับสิทธิในการเปลี่ยน ซ่อม หรือรับเงินคืน เพราะผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพสินค้า ไม่ใช่การขายคือแค่ขายได้แล้วจบ ซึ่งกฏหมายนี้จะพลิกเกมใหม่จาก “ขายไว ใช้พัง” ไปเป็น “ขายดี เพราะคุณภาพดี” ทันที

โดยหลักการ กฎหมายที่เข้มแข็งไม่ได้แค่คุ้มครองคนซื้อ แต่ยังส่งเสริมให้คนขายผลิตของดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนสินค้า คืนเงิน หรือซ่อม ย่อมทำให้ต้นทุนผู้ผลิตสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากผลิตสินค้าที่คงทนมีคุณภาพ ผ่านระบบการควบคุมคุณภาพ (QC) ที่ดี ย่อมหมายถึงสินค้ามีอายุการใช้งานยาวขึ้น ขยะสินค้าที่เสียง่ายก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์พุ่งแตะ กว่า 400,000 ตันต่อปี และจำนวนไม่น้อยมาจากของที่พังเร็วเกินไป เสียจนต้องซื้อใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบบนี้เรียกได้ว่า “จ่ายแพงทางอ้อม” ทั้งเงินในกระเป๋า และสิ่งแวดล้อมที่ต้องแบกรับ

ไม่เพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม การมีกฎหมายเลมอน ลอว์ ยังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ E คือ Environment หรือสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะน้อยลง S คือ Social สังคมผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม G คือ Governance ความโปร่งใสและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่ไม่ควรเลี่ยงเมื่อลูกค้ามีปัญหา

หากเรามองภาพรวม จะเห็นว่ากฎหมายแบบเลมอน ลอว์ ไม่ใช่แค่เรื่องของ “การซ่อม – การเคลมของ” แต่มันคือเรื่องของ “ความยั่งยืน” ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประเทศที่มีกฎหมายนี้ ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ หากสินค้าเสียก็สามารถเรียกร้องสิทธิได้ง่าย ไม่ต้องรอพึ่งดวงหรือพนักงานใจดี ต่างจากประเทศที่ไม่มีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผู้บริโภคยังต้องเดินอยู่ในเขาวงกตของระบบที่ไม่เป็นธรรม

วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน และ “เลมอน ลอว์” ก็คือหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของภาพใหญ่ที่ชื่อว่า “วิถีชีวิตที่ยั่งยืน” ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคน ทั้งผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และรัฐ จะต้องร่วมมือกันผลักดันให้ความยุติธรรมไม่ใช่แค่แนวคิด แต่เป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง ในแต่ละวันที่เราหยิบของสักชิ้นขึ้นมาใช้ แล้วมั่นใจได้ว่าสินค้าชิ้นนั้น “จะไม่พังเร็วเกินไป”