เริ่มแล้ว! ปี 68 อาหารจีเอ็มโอ ต้องติดฉลาก ตาม กม.

กฎหมายใหม่บังคับฉลากอาหารจีเอ็มโอ (GMOs) ต้องแสดงข้อมูลว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” พร้อมสัญลักษณ์ชัดเจน เพื่อสิทธิการเลือกซื้อของผู้บริโภค

อาหารจีเอ็มโอ

เริ่มต้นปี 2568 เป็นต้นไป การเลือกซื้ออาหารจะเปลี่ยนไป เพราะทุกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ต้องแสดงฉลากจีเอ็มโออย่างชัดเจน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2565 ชวนเตรียมพร้อมอ่านฉลากให้รอบคอบ เพื่อการตัดสินใจที่มั่นใจทุกครั้งในการบริโภค

ทั้งนี้ ประกาศฉบับใหม่ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปร หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมหรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่และใช้บริโภคเป็นอาหาร รวมถึงที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพืชหรือสัตว์ที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอ ตั้งแต่ 5% ขึ้นไป ต้องระบุข้อความว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” ที่ฉลาก รวมถึงส่วนประกอบอาหารตามสูตรที่กำหนดแม้จะไม่มีส่วนประกอบหลักที่เป็นจีเอ็มโอ แต่หากมีการปนเปื้อนที่น้อยกว่า 5% ก็ต้องระบุไว้ในฉลากเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม พื้นสีเหลืองตัวอักษรสีดำ โดยมีข้อความว่าภาษาอังกฤษ “GMO” บนฉลากผลิตภัณฑ์ แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย

ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรของผู้บริโภค ผลักดันประเด็นการแสดงฉลากในอาหารจีเอ็มโอมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอาหารจีเอ็มโอให้ฉลากจีเอ็มโอมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในประกาศฉบับเก่าพบปัญหาการแสดงฉลากไม่ชัดเจน ไม่สามารถมองไม่เห็นฉลากที่ระบุว่า ‘อาหารนั้นมีส่วนประกอบจากการดัดแปรพันธุกรรม’ อีกทั้งฉลากยังมีขนาดที่เล็กมากเกินไป ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดของสินค้า ซึ่งขัดต่อสิทธิพื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า (Right to Choose) ตามสิทธิผู้บริโภค

จีเอ็มโอคืออะไร

จีเอ็มโอ หรือ GMOs ย่อมาจากคำว่า Genetically Modified Organisms หมายถึง สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่เกิดจากการตัดเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งยิงเข้าไปในยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรมชาติ เพื่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีคุณลักษณะตามต้องการ เช่น การนำยีนทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลกมาผสมกับมะเขือเทศ เพื่อให้มะเขือเทศปลูกในที่อากาศหนาวได้ การนำยีนจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาใส่ในยีนของถั่วเหลือง เพื่อให้ถั่วเหลืองทนทานต่อยาปราบวัชพืช การนำยีนจากไวรัสมาใส่ในมะละกอ เพื่อให้มะละกอต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ เป็นต้น

อาหารจีเอ็มโอปลอดภัยหรือไม่

ตั้งแต่มีการพัฒนาเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์รายใดที่สามารถยืนยันได้ว่าอาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอปลอดภัยต่อการบริโภคในระยะยาว โดยการทดลองส่วนใหญ่ทำในสัตว์ทดลอง และเป็นการทดลองระยะสั้น ซึ่งไม่สามารถเทียบได้กับช่วงชีวิตของมนุษย์ที่ยาวถึง 60 – 70 ปี

ขณะเดียวกันการที่อาหารจีเอ็มโอยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัย แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารให้มนุษย์บริโภค อาจเปรียบได้กับการใช้มนุษย์เป็นหนูทดลองโดยไม่รู้ตัว ยิ่งในกรณีที่อาหารเหล่านี้ไม่มีฉลากระบุชัดเจนว่าเป็นจีเอ็มโอหรือไม่ ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากในอนาคตเกิดผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นมา การระบุสาเหตุว่าเป็นผลมาจากการบริโภคอาหารจีเอ็มโออย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งยาก

ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ

โรคภูมิแพ้ – กรณีในสหรัฐอเมริกาพบผู้แพ้บราซิลนัทเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงหลังบริโภคถั่วเหลืองจีเอ็มโอซึ่งมียีนของบราซิลนัทผสมอยู่โดยไม่รู้ตัว โดยยีนที่แปลกปลอมเหล่านี้อาจสร้างโปรตีนใหม่ที่ร่างกายไม่รู้จัก และกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

การดื้อยาปฏิชีวนะ – ในกระบวนการผลิตจีเอ็มโอ มักมีการใส่สารต้านทานยาปฏิชีวนะลงไปเพื่อช่วยตรวจสอบความสำเร็จของการดัดแปลงพันธุกรรม แต่สารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาร่างกายดื้อยาปฏิชีวนะในผู้บริโภค ทั้งนี้ ในยุโรปมีการออกกฎหมายห้ามใช้สารต้านทานยาปฏิชีวนะในจีเอ็มโอ และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 อย่างไรก็ตาม พืชจีเอ็มโอที่มีสารนี้ยังคงปรากฏในตลาดอาหาร

ความเสี่ยงต่อเด็กทารก – ราชสมาคมอังกฤษรายงานว่าเด็กทารกเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดต่อการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายไวต่อสารที่อาจเป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการบริโภคอาหารจีเอ็มโอมีทั้งข้อดีและข้อกังวลด้านความปลอดภัย แต่ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดถึงผลกระทบระยะยาวได้ ดังนั้น การบริโภคอย่างมีความระมัดระวัง และการสนับสนุนให้มีการติดฉลากอาหารที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพของตนเองได้ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป แนะนำให้ผู้บริโภคร่วมกันสังเกตผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีฉลากอาหาร GMOs ใหม่หรือไม่ ถ้าพบเห็นมีการใช้ฉลากแบบเก่า สามารถแจ้งเบาะแสไปที่ อย. ที่เบอร์สายด่วน 1556 หรือแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภค โทร 1502

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไมถึงควรเลี่ยง ‘อาหารจีเอ็มโอ (GMOs)’?

7 ปีที่รอคอย! อย. เซ็นประกาศ อาหารผสมจีเอ็มโอทุกอย่าง ต้องแสดงฉลาก เริ่มปี 68