เอ็มเทคหารือสภาผู้บริโภค เสนอออกแบบฉลากประเมินด้านความปลอดภัยหมวกกันน็อก ชี้ช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจซื้อ พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น
จากความร่วมมือของสภาผู้บริโภคและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค : MTEC) ร่วมกันทดสอบ และเปิดผลทดสอบหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานนั้น
เพื่อต่อยอดความร่วมมือ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เอ็มเทคจึงหารือสภาผู้บริโภค โดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค : MTEC) ด้านวิจัยและพัฒนาการออกแบบและการผลิตสำหรับเทคโนโลยีวัสดุ เปิดเผยว่า หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อกที่วางขายในปัจจุบันมีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ที่เหมือนกัน แต่ราคามีความหลากหลายตั้งแต่หลัก 1,000 บาท จนถึง 10,000 บาทหรือมากกว่า ทำให้ผู้บริโภคขาดตัวช่วยในการเลือกซื้อหมวกกันน็อกที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากไม่มีดัชนีแสดงคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าหรือระดับคะแนน หรือที่คุ้นเคยในปัจจุบันอย่างฉลากเขียว ฉลากประหยัดไฟ ฉลากยางรถยนต์ หรือฉลากความปลอดภัยรถยนต์
ดร.ศราวุธ จึงได้นำเสนอโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการออกฉลากประเมินด้านความปลอดภัยหมวกกันน็อก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ โดยเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้ของตัวเลือกสินค้าหมวกกันน็อกที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม รวมถึงยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาการมีมาตรฐาน มอก. ไม่สามารถบ่งบอกคุณภาพของสินค้าได้ แต่หากมีการให้ดาวหรือคะแนนจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เสนอว่า เมื่อมีการให้คะแนนสินค้าไปแล้วควรต้องมีการสุ่มตรวจมาตรฐานในท้องตลาดอีกครั้ง หากพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานอาจมีการเรียกคืนสินค้า การสุ่มตรวจจะทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตให้มีมาตรฐานมากขึ้น ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคและต้องการพัฒนาเชิงมาตรฐานกับผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีการสุ่มทดสอบเมื่อไรผู้บริโภคจะพบกับสินค้าที่มีมาตรฐาน
ด้าน ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค มีความคิดเห็นว่า การมีฉลากประเมินความปลอดภัยจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า อีกทั้งการสำรวจสินค้าหลังได้มาตรฐานถือว่ามีความสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรต้องมีการออกแบบกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางว่ากลไลการทำงานรูปใดมีความลงตัวที่สุดเพื่อให้การดำเนินงานเป็นธรรมกับทุกฝ่าย