ส่งเสริมสิทธิพลเมือง หนุนภาคประชาชนเป็นองค์กรผู้บริโภค ปลุกความเป็น Active Citizen ในใจผู้คน สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ จากเรื่องใกล้ตัว

Getting your Trinity Audio player ready...

“ถ้าเราอยู่ได้ แต่องค์กรอยู่ไม่ได้ เราก็ทำงานไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ความจริงคือ เราทำงานคนเดียวไม่ได้ ถ้ามองภาพความเป็นองค์กร ถ้าเราอยู่ได้แต่องค์กรอยู่ไม่ได้ เราก็ทำงานไม่ได้ เพราะเราทำงานคนเดียวไม่ได้” พลเมืองที่เข้มแข็งไม่ได้มองแค่ความต้องการตัวเอง แต่มองเห็นและเข้าใจผู้อื่นด้วย ประโยคกระทบหัวใจ เมื่อเราเริ่มพูดคุยทำความรู้จักกับ “สุนทร สุริโย” หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค

ฟังเรื่องเล่าและตามดูเรื่องราวของหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว รู้สึกมีความหวังกับสิ่งที่ผู้เขียนเน้นย้ำกับตัวเองและเชื่อมาตลอดว่า นโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การประเมินทดสอบความรู้ของผู้คนเพียงอย่างเดียว เพราะคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่ได้วัดกันที่ความรู้ หรือการศึกษาเพียงอย่างเดียว “ความเก่ง ไม่ได้วัดที่เกรดเฉลี่ย” ยังมีความรู้ผ่านประสบการณ์ในการทำงาน ความรู้จากการแสวงหาความรู้อีกมากมายที่ตอกย้ำว่า “มนุษย์จำเป็นต้องได้รับการเชื่อมต่อทางสังคมและอารมณ์เพื่อสร้างการเรียนรู้ เพราะการมีความฉลาดทางสังคมและอารมณ์ จะนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี” หรือที่ถูกนิยามว่า “พลเมืองเข้มแข็งและตื่นรู้”

งานคุ้มครองผู้บริโภคก็เช่นกันเดียวกัน “ร้องเรียน 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ความหมายคือ “เลิกบ่นกล่าวโทษผู้อื่น แต่ให้ลงมือทำ” ดั่งที่ นายสุนทร สุริโย ได้บ่มเพาะความฝันของตนเองแต่วัยเด็กว่า อยากสร้างสถานที่บ่มเพาะคนทำงานสังคมให้มีความมั่นคงและเติบโต จากเด็กคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ก้าวเข้ามาสู่ชีวิตการทำงาน ณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี ตอนนั้นโครงการภายใต้มูลนิธิเด็ก มีนโยบายให้ครูสามารถพาเด็กออกไปเรียนรู้ทำความรู้จักกับภาคประชาสังคมในจังหวัดได้ สุนทรจึงนำเด็กออกมาจากรั้วโรงเรียนเพื่อพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงร่วมกับภาคประชาสังคมในจังหวัดกาญจนบุรี  

ในช่วงประมาณหลังปี 2540 กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( Social Investment Fund) มีค่ายเยาวชน สุนทรก็พาเด็กๆ ไปเข้าค่ายเยาวชน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ร่วมกับชุมชนได้ และเป็นช่วงที่ได้รู้จักกับ “ไก่” อิสราวุธ ทองคำ จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) NGO สายสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมา (หลังปี 2548) ไก่ เป็นผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน (จ.กาญจนบุรี) สุนทรก็ได้เรียนรู้การทำงานภาคประชาสังคมสายสุขภาพอีกบทบาทหนึ่งจนถึงปี 2550 จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ช่วงนั้นเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกำลังผลักดันให้เกิดสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) โดยมีหมอลี่ (นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา) เป็นเลขาธิการสถาบันฯ ในช่วง    ปี 2550 – 2553 ได้เรียนรู้งานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านโทรคมนาคมควบคู่ไปกับงานหลักประกันสุขภาพ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) ได้เรียนรู้ Case study (กรณีศึกษา) เกี่ยวกับความเป็น (Active citizen) ด้านโทรคมนาคม เช่น เรื่อง SMS เสี่ยงโชค เล่นการพนัน เป็นต้น รวมถึงเรื่องการย้ายตู้ชุมสายโทรศัพท์บนที่ดินของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ติดถนนใหญ่ในอำเภอท่าม่วง เนื่องจากตู้ชุมสายโทรศัพท์บังหน้าร้านค้าชุมชนพอดี ซึ่งร้านค้าชุมชนต้องการให้บริษัทดำเนินการย้ายตู้ชุมสายโทรศัพท์ไปอยู่ด้านข้าง เพื่อไม่ให้บังหน้าร้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการย้าย 20,000 บาท ตนเองจึงตัดสินใจประสานงานไปที่บริษัท โดยทำหนังสือไปถึงบริษัทว่า ผู้บริโภคเดือดร้อน ประกอบกับร้านค้าในชุมชนค้าขายไม่สะดวก และค่าใช้จ่ายในการย้ายไม่ควรเป็นภาระของผู้บริโภค โดยได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการย้ายตู้ชุมสายโทรศัพท์ให้โดยไม่มีเงื่อนไขทันที ประเด็นนี้เองทำให้สุนทร มองว่า “ถ้าผู้บริโภคไม่ได้เป็น Active Citizen เขาก็จะแค่จ่ายเงินไป เพื่อให้เรื่องราวจบลง และไม่ร้องเรียนก็สามารถทำได้เช่นกัน ก็จะได้แค่บ่นและผู้บริโภคก็ยังถูกละเมิดสิทธิไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่เรื่อยไป”

จากเรื่องตู้ชุมสายโทรศัพท์ ก็มาเรียนรู้กระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์งานโทรคมนาคม ผ่านละครเวที โดยเริ่มมีโฆษณาระบบ Network 3G แต่ระบบไม่รองรับ และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ iPhone 12 ออกตลาด ซึ่งเด็กนักเรียนมัธยมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถใช้ Face ID เพื่อปลดล็อค iPhone ขณะสวมใส่หน้ากากอนามัยได้ แต่สามารถประวิงการตัดสินใจซื้อโทรศัพท์ออกไปก่อนได้ โดยเริ่มทำ PR Roadshow ประชาสัมพันธ์ รับอาสาสมัครจากโรงเรียนประจำอำเภอ 12 โรงเรียนๆ ละ 5 คน มาเข้าค่ายเยาวชนคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค (2 คืน 3 วัน) เริ่มจากการจัดค่ายในห้องประชุม (ห้องแอร์) ไปจนถึงลงพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้เด็กนักเรียนมีความรู้เรื่องผู้บริโภคและรู้จักกันมากขึ้นในหลายอำเภอ จนก่อรูปเป็นเครือข่ายเยาวชนคุ้มครองสิทธิ์ และ ขยายเป็นประเด็นอื่นด้วย เช่น เรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร ในปี 2554 สมัยที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ได้ชวนเยาวชนจังหวัดกาญจนบุรี ไปยื่นข้อเสนอกับรัฐมนตรี แม้ภายหลังงบประมาณจะหมดลงทำให้งานด้านเครือข่ายเยาวชนคุ้มครองสิทธ์แผ่วลง แต่เยาวชนยังคงเกาะเกี่ยวกันอยู่ บางคนยังทำงานอยู่ด้วยกัน บางคนเรียนต่อและหลายโครงการได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เช่น เรื่องอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และรถโดยสารปลอดภัย ก็ยังเกาะเกี่ยวเครือข่ายเยาวชนคุ้มครองสิทธ์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

เพราะเชื่อว่าหากเด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้งานคุ้มครองผู้บริโภค เขาก็จะเติบโตไปเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง รู้จักสิทธิของตนเอง ใช้สิทธิของตนเองอย่างถูกต้อง และให้คำแนะนำ ช่วยเหลื่อผู้อื่นได้เวลาถูกละเมิดสิทธิ์ ต่อมามีการเตรียมผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ผลักดันองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้เรียนรู้งานคุ้มครองผู้บริโภคเรื่อยมา จนมาเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค ณ ปัจจุบัน

สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตนี้ คือ ภูมิใจที่ทำให้คนไทยเข้าถึงสิทธิ รู้จักสิทธิ ทำให้คนใช้สิทธิได้ โดยเฉพาะในช่วงที่คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็ง ระหว่างที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และอยากใช้สิทธิผู้ป่วย มะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง กับโรงพยาบาลในชุมชน ในช่วงที่หายใจด้วยตนเองได้ไม่มาก โรงพยาบาลก็ให้มัดจำถังออกซิเจนเพื่อรับบริการที่บ้าน มีแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเยี่ยมที่บ้าน กรณีแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่และเป็นเรื่องร่ำลือกันว่าเราใช้เส้นสายกับโรงพยาบาล เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่านี่เป็นสิทธิของเราตามกฎหมาย ทำให้ญาติพี่น้องยอมรับในตัวเรามากขึ้น ว่าการทำงานเช่นนี้ก็สามารถช่วยเหลือคนในครอบครัวได้ จนคุณแม่เสียชีวิต และต้องอ่าน ประวัติการทำงานของลูกด้วยก็มีสมาชิก อบต. มาสอบถามภายหลังว่าทำอะไร อย่างไร ประจวบกับมีเหตุการณ์เอารถของคุณพ่อไปซ่อมแซม และไม่ได้รับรถตามที่ตกลงกันไว้ จึงชวนสมาชิก อบต. เข้าไปรับรู้ เจรจากับการทำธุรกรรมนั้น ผู้ประกอบการก็ยอมเจรจาแต่โดยดี ยังมีเคสร้องเรียนเรื่องแรงงานบรูไน คือไปทำงานแล้วบริษัทปิด ผู้เสียหายมีเงินประกันอยู่แต่ยังไม่ได้เงินประกันคืน ตนเองก็ประสานงานไปยังกระทรวงแรงงาน และประสานไปยังสถานทูตบรูไน จนกระทั่งสามารถเรียกร้องเงินชดเชยให้แรงงานได้ประมาณ 30 คน แต่แรงงานผู้เสียหายยังไม่ทราบเรื่องและส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด สุนทรจึงประสานไปยังรายการ “สถานีประ ชาชน” ของไทยพีบีเอส (องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) ขอเวลา“สถานีประชาชน” 5 นาทีสุดท้ายก่อนหมดเวลาออกอากาศ เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายทราบและมาขอรับเงินชดเชย จากที่ติดต่อแรงงานผู้เสียหายไม่ได้เลย ในที่สุดก็มีแรงงานผู้เสียหายติดต่อกลับมาและได้นัดกันไปสถานทูตบรูไน เพื่อรับเงินชดเชย โดยที่เมื่อมีผู้เสียหายประสานกลับมา สุนทรก็ดำเนินการติดต่อไปยังสถานทูตบรูไน จนผู้เสียหายได้เงินประกันคืนตามสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับ

จากเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา สุนทรค้นพบว่ายังมีผู้บริโภคอีกมาก ที่ไม่รู้ว่าตนเองต้องทำอย่างไร เมื่อได้รับความเสียหาย งานคุ้มครองผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือ ปลุกความเป็น Active Citizen ให้ตื่นขึ้นในใจผู้บริโภคทุกคน โดยเริ่มตั้งแต่เด็กและเยาวชน เพราะเติบโตมาจากการเป็นครู ผูกพันกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เห็นศักยภาพเด็กและเยาวชนว่าสามารถปลูกฝังเมล็ดพันธุ์พลเมืองที่เข้มแข็งได้ เยาวชนรู้จักสิทธิคุ้มครองสิทธิได้ ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสังคม ผู้บริโภคเป็น Active Citizen สังคมก็จะมีความเป็นธรรม มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นภาพฝันที่ต้องการให้เกิดขึ้นจริง

ความท้าทายในการเป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากการพัฒนาหน่วยงานประจำจังหวัดให้มีความเป็นมืออาชีพแล้ว ยังต้องเกาะเกี่ยวพัฒนาสมาชิก ภาคี เครือข่ายภาคสังคม ต้องทำให้หน่วยงานประจำจังหวัดเป็นที่รู้จักและเข้าไปอยู่ในใจของประชาชน แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค ให้ความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เหมือนเป็นนักเรียนที่ต้องเรียนวิชาคุ้มครองผู้บริโภค 8 วิชาต่อวัน สิ่งสำคัญคือ เราต้องเห็นความจริงในปัจจุบันก่อน แล้วมากำหนดอนาคตร่วมกันด้วยการเปลี่ยนแกนนำเป็นองค์กรผู้บริโภค จึงอยากให้สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางที่สนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภคให้กับพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นเหมือนครูที่ต้องพัฒนาศักยภาพเด็กให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง เพราะองค์กรสมาชิกก็เปรียบเหมือนเด็กที่ต้องการการพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นใจ องค์กรมีความเข้มแข็งอยู่เคียงข้างผู้บริโภคตลอดไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค