ผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานราชการประจำจังหวัด และสมาชิกสภาผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกันจัดเวทีสะท้อนปัญหาจากเรื่องร้องเรียน ระดมความคิดเห็น พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะดำเนินงาน เพื่อแลกเปลี่ยนสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและพัฒนาความร่วมมือการดำเนินงานจากองค์กรของผู้บริโภคต่อไป
วันที่ 19 กันยายน 2565 สุนทร สุริโย หัวหน้าหน่วยงานจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าววัตถุประสงค์ของเวทีสภาผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเสนอแนะปัญหาผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย และพัฒนาความร่วมมือ และ รับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินงานจากองค์กรผู้บริโภค และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาแผนการดำเนินงานของหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค
หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังกล่าวต่อว่า มีภารกิจ เพื่อผู้บริโภค 7 ด้าน ดังนี้ 1. การเสนอแนะนโยบาย 2. การสนับสนุนการตรวจสอบ และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหากับผู้บริโภค 3. รายงานการละเลย ต่อการปฏิบัติหน้าที่การคุ้มครองผู้บริโภค 4. การสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรของผู้บริโภค 5. การสนับสนุนการรวมตัวขององค์กรสมาชิก เพื่อจัดตั้งองค์กรสมาชิกงานคุ้มครองผู้บริโภค 6. การรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมยอมความการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภค 7. การดำเนินคดีแทนผู้บริโภคในนามสภาองค์กรของผู้บริโภค
ทั้งนี้ จังหวัดกาญจนบุรี มีองค์กรผู้บริโภคที่ประกาศจากนายทะเบียนกลาง คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดย 8 องค์กร จะดำเนินการคัดเลือกหนึ่งในทั้งหมดจัดตั้งหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อมาดำเนินงานตามภารกิจเพื่อผู้บริโภค 7 ด้าน จะต้องจดแจ้งต่อนายทะเบียนกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายทะเบียนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นนายทะเบียน ซึ่งทั้ง 8 องค์กร ถือได้ว่ามีศักยภาพในการดำเนินงาน จึงได้รับประกาศ ดังนั้น องค์กรผู้บริโภค ที่ยังไม่ได้รับการประกาศแต่มีเจตนารมณ์ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภค อีก 8 องค์กร และยังมีอีกหลายอำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ยังไม่มีองค์กรของผู้บริโภค
ซึ่งในอนาคตหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค ก็มีเป้าหมายที่จะขยายองค์กรผู้บริโภคให้ครบทุกอำเภอ เพื่อที่จะเป็นผู้แทนของผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค
ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ในการดำเนินงานของหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาในระบบ 46 เรื่อง เป็นเรื่องของการเข้าถึงระบบบริการรักษาสุขภาพ สิทธิ์สวัสดิการต่างๆ ซึ่งทางหน่วยงานฯ ได้ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักบริหารทะเบียนกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ หน่วยงานอื่นๆ ที่มีการเซ็นบันทึกความร่วมมือด้านคนไทยไร้สิทธิ์ นำไปสู่การมีสิทธิ์ บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่มีตัวตน ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ เพราะไม่สามารถระบุตัวตนได้ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด
รองลงมาเรื่องปัญหาที่ดิน มีประชาชนไม่มีความรู้เรื่องการซื้อขายที่ดิน การจัดสรรที่ดิน และการซื้อบ้านจัดสรร ซึ่งประชาชนในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กำลังประสบปัญหาเรื่องการจัดสรรที่ดิน แต่ไม่ได้ที่ดิน จ่ายเงินสดไปร่วม 50 ล้านบาท ซึ่งผู้ขายที่ดินมีคดี และในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีการขายที่ดิน สปก. หรือ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่ง อนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมได้ และ ปัญหาด้านการซื้อขายออนไลน์ ที่ผู้บริโภคทั้งประเทศต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ และเรื่องปัญหาคอลเซ็นเตอร์
การร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และสะท้อนปัญหา ในเวทีครั้งนี้ นำโดยกระบวนกร ดร.ลักษิกา เจริญศรี ที่ปรึกษาด้านวิชาการหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี แบ่งกลุ่มเวทีสานเสวนา สะท้อนปัญหาผู้บริโภคจากเรื่องร้องเรียนรับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินงาน และประชุมเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย องค์กรสมาชิก องค์กรผู้บริโภค คณะกรรมการศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี คณะกรรมการศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคกาญจนบุรี
ดังนั้น การจัดเวทีสภาผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี สะท้อนปัญหาผู้บริโภคจากเรื่องร้องเรียน รับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินงานครั้งนี้ จะทำให้มีการเสนอแนะปัญหาผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและพัฒนาความร่วมมือ และรับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินงานจากองค์กรของผู้บริโภค เพื่อนำไปพัฒนาแผนการดำเนินงานของหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค ต่อไป
อัจนา ปานบุตร รักษาการ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรี แจ้งนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สำนักงานพาณิชย์ มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับดูแลราคาสินค้า และบริการ ภายใต้พระราชบัญญัติราคาสินค้า และบริการ พ.ศ.2542 เพื่อกำกับดูแลราคาสินค้า และบริการไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาปรียบ ร่วมถึงให้ผู้ประกอบติดป้ายราคา เพื่อให้ผู้ซื้อมีโอกาสในการตัดสินใจ ได้มีโอกาสเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ได้ทำการตรวจสอบเป็นประจำ ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มีนโยบาย และแนวทางวินวิน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ไม่มีผู้ใดเสียประโยชน์ เพราะ ราคาสินค้าจะส่งผลกระทบหลายด้าน เป็นต้นน้ำ ก็คือเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบสินค้า กลางน้ำ ผู้ประกอบการ โรงงานต่างๆ ต้องรับวัตถุดิบมาผลิตสินค้า ส่วนผู้บริโภค เป็นผู้ที่อยู่ปลาย ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ก็พยายามให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างความสมดุลมากที่สุด และรู้สึกยินดีที่เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อช่วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับการช่วยเหลือ ผ่านสภาองค์กรของผู้บริโภค
หากท่านพบเจอปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมการซื้อสินค้า และบริการ แจ้งได้ที่ หน่วยประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค
เลขที่ 178/7 หมู่ 11 ตำบล ปากแพรก อำเภอ เมืองกาญจนบุรี จังหวัด กาญจนบุรี 71000
โทรศัพท์ : 080-437-3337