เดินสายไม่หยุดหย่อนกับ ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรผู้บริโภค จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัดและหน่วยงานเขตพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนธันวาคม 2565 เช่นจัดเวทีรับฟังและรายงานผลการประเมินการพัฒนาหน่วยงานประจำจังหวัดเอย ร่วมวางแผนการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคเอย ยังไม่พอยังมีการติดตามสถานการณ์การทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและวางแผนการทำงานในปี 2566 อย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายและสร้างความชัดเจนต่อแนวทางการทำงานร่วมกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
ค่าไฟแพง รู้แล้วว่าใครผิด ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม ได้จัดเวทีเสวนา “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” โดยระบุว่ารัฐวางแผนและการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าผิดพลาด ทำสัญญาเอื้อประโยชน์เอกชนมากเกินควร แถมด้วยการยื่น 5 ข้อเสนอถึงกระทรวงพลังงานร่วมกับอีก 148 องค์กร เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟแพงด้วย ยังไม่หมดปลายเดือนที่ผ่านมาได้ร่วมกับกลุ่มเยาวชนขนส่งขนสุขสาธารณะ เข้าพบทีมบริหารของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสนับสนุน ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะไม่ต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกด้วย
ส่งท้าย 20 ธันวาคม 2565 ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับภาคีเครือข่าย นำเสนอผลการสำรวจในประเด็น “นโยบายการสื่อสารที่กระทบสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอต่อรัฐ สื่อ และสังคม” นอกจากนี้ ได้ร่วมรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียม ในเวทีเสวนา “สานพลังขับเคลื่อน การลดการบริโภคโซเดียม ลดโรคร้ายแรง จากระดับชาติสู่ระดับพื้นที่” ซึ่งได้ย้ำข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการจัดเก็บภาษีโซเดียม และการใช้ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรควบคู่ไปกับฉลากโภชนาการแบบข้อแนะนำปริมาณบริโภคต่อวัน
ใจถึงพึ่งได้ต้องฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ช่วยเจรจาให้ผู้บริโภคได้รับเงินเยียวยาถึง 362,000 บาท กรณีประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทประกันเสนอจ่ายเยียวยาจำนวนเงินเพียง 35,000 บาท และยังมีการร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) แถลงข่าวโครงการพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายด้านการป้องกันและจัดการปัญหาธุรกรรมทางออนไลน์ เพื่อขยายขีดความสามารถในการรับเรื่องร้องเรียนและให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนทั่วไป เยี่ยมจริง ๆ
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะหรือมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยและทดสอบสินค้าหรือบริการที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภคอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวทีวิชาการ “ชงรัฐ พัฒนาทักษะผู้ขับขี่ บังคับติด ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น หวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน” หรือข้อเสนอแนะถึงผู้ประกอบการที่จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต กรณีการแจ้งกำหนดการประกาศและวันจำหน่ายบัตรน้อยกว่า 30 วัน กรณีการมอบอำนาจบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตที่ยังไม่สะดวก รวมถึงกรณีบัตรเข้าชมมีราคาสูงเกินควรและไม่สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เห็นมั้ยว่าพึ่งได้ขนาดไหน
จัดเต็มไม่เคยแผ่ว… กับฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ จับมือ 10 มหาวิทยาลัยทั่วไทย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ค่ายพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารสำหรับคนรุ่นใหม่” รวมพลังคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยช่วงปลายปีที่ผ่านมามีน้อง ๆ คนรุ่นใหม่เข้าร่วมกิจกรรมเกือบ 700 คน จากมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยมีการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “รู้สิทธิของผู้บริโภค” และการอบรมเชิงปฏิบัติการ อาทิ การทำคอนเทนต์ การเล่าเรื่อง (Storytelling) การใช้โปรแกรมสำหรับผลิตสื่อ เป็นต้น เพื่อจุดประกายไอเดียในการจัดทำสื่อสารสร้างสรรค์ และช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนให้กลุ่มเยาวชนตระหนักถึงปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นและลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองต่อไป หลังจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเดินสายไปมหาวิทยาลัยที่เหลืออีก 6 ที่ ทุกคนอย่าลืมปูเสื่อรอชมผลงานการผลิตสื่อในรูปแบบสุดต๊าซ ฉบับเพื่อ(น)ผู้บริโภคกันได้เลย
เตรียมพบกับกิจกรรมที่น่าสนใจจากสภาผู้บริโภค ตลอดเดือนมกราคมนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 ม.ค.นี้ และเวทีนำเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณี ‘สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่’ อีกทั้งฝากติดตามการแถลงข่าว กรณีที่บริษัทฮอนด้าเยียวยาผู้บาดเจ็บจากถุงลมนิรภัยระเบิดใส่ หลังที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเจรจากับบริษัทฯ ให้เยียวยาอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีค่ายรวมพลังคนรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะจัดขึ้นที่ม.บูรพา ม.วลัยลักษณ์ และม.มหาสารคาม รวมไปถึงการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จ.เชียงใหม่ พร้อมชวนติดตามสารคดี “สูงวัยไร้บำนาญ” เรื่องราวชีวิตของผู้คนเมื่อไม่มีหลักประกันรายได้รองรับชีวิตเมื่อยามสูงวัย จะเป็นอย่างไร? ได้ที่เพจสภาองค์กรของผู้บริโภค