อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค รวบรวมความเห็นจากนักท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมชงข้อเสนอแนะถึงกรมการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมาตรการกำกับดูแลธุรกิจนำเที่ยว ให้มีความรับผิดชอบกับผู้บริโภคมากขึ้น
จากกรณีที่สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก ที่ได้รับความเสียหายจากบริษัทนำเที่ยวหลายบริษัททำทัวร์ล่ม จองซื้อรายการนำเที่ยวไปแล้วแต่ไม่ได้เดินทาง และไม่คืนเงิน รวมมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 67 ล้านบาท
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567 ซึ่งมี ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เป็นประธานที่ประชุม ได้รับทราบผลการจัดประชุมอบรมให้ความรู้เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ซึ่งสภาผู้บริโภคได้เชิญผู้แทนกรมการท่องเที่ยว ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย มาร่วมประชุมทางออนไลน์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากผลการประชุมนี้คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้มีการจัดทำข้อเสนอไปยังกรมการท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1. กรณีให้หรือต่อใบอนุญาตประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ควรนำเรื่องการแบ่งระดับขนาดทางการเงินของธุรกิจเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวขายโปรแกรมเกินความสามารถในการรองรับลูกทัวร์มากเกินไป จนไม่สามารถรับผิดชอบได้เมื่อมีเหตุทางการเงินหรือเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อาทิ ภัยสงคราม โรคระบาด โดยเสนอให้มีการกำหนดระดับวงเงินการจัดทำใบอนุญาตตามลำดับขั้น โดยคำนึงถึงเกณฑ์ระยะเวลาการประกอบธุรกิจที่ผ่านมา การสะสมเครดิตทางบัญชี เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น และส่งเสริมให้ธุรกิจนำเที่ยวของไทยมีความมั่นคง น่าเชื่อถือต่อผู้ใช้บริการมากขึ้นได้ในอนาคต
2. การจัดมัคคุเทศก์หรือไกด์ทัวร์ให้เหมาะสมต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งกรมการท่องเที่ยวต้องการเปิดรับฟังความเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ให้บริษัททัวร์จะต้องจัดให้มีมัคคุเทศก์เดินทางไปกับนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 1 คนต่อนักท่องเที่ยว 50 คน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับบริการเพียงพอและทั่วถึง คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า อาจจะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า หากนักท่องเที่ยวไม่ถึง 50 คน ก็ควรจะกำหนดมัคคุเทศน์ 1 คนต่อรถนำเที่ยว 1 คันด้วยเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะต้องดูว่ารถนำเที่ยวเป็นแบบ 50 ที่นั่งหรือไม่ เพราะฉะนั้นอาจจะใช้หลักการของกำหนดสัดส่วนตามหน่วยบริการก็ได้ เช่น ต่อคันรถบัส ต่อคันรถยนต์นำเที่ยว เป็นต้น