สภาผู้บริโภคเกาะติด การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจากกระทรวงสาธารณสุขไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด หน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สภาผู้บริโภค รายงานผลโรงพยาบาลสุขภาพตำบลในจังหวัดร้อยเอ็ดได้ถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดครบแล้ว 100% แต่ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอต่อการประชาชน
นโยบายการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ตุลาคม 2564 โดยเป็นการกระจายอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางไปให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการป้องกันและบำบัดโรค การส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน การรักษาพยาบาลอย่างง่าย การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐอย่างเหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งนั้น และให้การถ่ายโอนบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิมเป็นไปตามความสมัครใจ
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 8/2566 วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ดของสภาผู้บริโภค ได้รายงานสถานการณ์การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า ปัจจุบันในจังหวัดร้อยเอ็ดมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 229 แห่ง คิดเป็น 100% ของจำนวนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งหมด
อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค มีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อถอดบทเรียนภารถ่ายโอนโรงพยาบาลสุขภาพตำบลในจังหวัดร้อยเอ็ด และให้ติดตามสถานการณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมาตรฐานการให้บริการ การส่งต่อผู้ป่วย ความพึงพอใจของผู้รับบริการ โครงสร้างการบริหารจัดการบุคลากร การเชื่อมโยงกับหน่วยบริการ บทบาทของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และในอนาคตให้มีการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรค ข้อร้องเรียนจากหน่วยประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภคในจังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยใช้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นข้อมูลต้นแบบ