อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ตรวจสอบ K PLUS ใช้ข้อความจำกัดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ เรียกร้องธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งกำหนดมาตรฐานสัญญาการใช้บริการธนาคารที่เป็นธรรมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็ว
จากกรณีที่มีผู้บริโภคโพสเฟสบุ๊กตั้งข้อสงสัยกับการเข้าใช้บริการแอปพลิเคชั่นเคพลัส (K PLUS) ของธนาคารกสิกรไทยที่ให้ผู้บริโภคต้องกดยอมรับข้อกำหนดและรับเงื่อนไขเท่านั้น จึงจะสามารถใช้บริการได้ โดยข้อกำหนดและเงื่อนไขบางข้ออาจเข้าข่ายข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เช่นข้อความว่า “ผู้ใช้บริการต้องดูแลไม่ให้อุปกรณ์ของผู้ใช้บริการถูกติดตั้งโปรแกรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการ K PLUS หรือต่อความปลอดภัยของระบบธนาคาร เช่น โปรแกรม BOT หรือ “Remote Application”
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2567 ซึ่งมีนายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีการพิจารณาถึงการกระทำกรณีนี้ว่าเข้าข่ายการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหรือไม่
คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้บริโภคต้องกดยอมรับข้อกำหนดและรับเงื่อนไขเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าใช้บริการแอปพลิเคชั่น K PLUS ได้ และการใช้ข้อความว่า “หากผู้ใช้บริการกดไม่ยอมรับแล้วไม่สามารถใช้บริการต่อได้” ข้อกำหนดและเงื่อนไงลักษณะเช่นนี้เป็นการผูกมัดและผลักภาระให้ผู้บริโภคมากเกินสมควร ควรเป็นเพียงข้อความเตือนไม่ควรรเป็นข้อกำหนดในสัญญาและธนาคารควรมีระบบ Cyber security ที่จะเตือนภัย ดักจับพฤติกรรมผิดปกติเมื่อดำเนินการผิดขั้นตอน อย่างไรก็ตามควรมีแนวทางรวมกันทั้งสองฝั่งจากผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ
สำหรับการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีแนวคิดในการกำหนดสัญญามาตรฐาน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลต่างประเทศและความเป็นไปได้ในการกำหนดสัญญามาตรฐาน เพื่อให้สัญญาครอบคลุมกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภท ส่วนการกำหนดข้อกำหนดและเงื่อนไขก่อนเข้าใช้บริการแอปพลิเคชั่นบางข้ออาจมีเหตุเกิดผู้ใช้บริการลงแอปพลิเคชั่นบางอย่างที่อาจเปิดช่องทำให้ถูกแฮกข้อมูล ธนาคารจึงกำหนดเงื่อนไขลักษณะเช่นนี้
อย่างไรก็ดีคณะอนุกรรมการเห็นว่า การกระทำลักษณะนี้ทำให้ผู้บริโภคไม่มีสิทธิเลือกไม่ยอมรับเพราะจะไม่สามารถใช้บริการ เมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดและเงื่อนไขก่อนเข้าใช้บริการแล้วเห็นว่า เข้าข่ายข้อสัญญาไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จึงมีมติเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งผลักดันดำเนินการให้เกิดเป็นสัญญามาตรฐานโดยเร็ว และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งสถาบันการเงินและผู้บริโภค ไม่ได้เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยมองประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ