สภาผู้บริโภคร่วมมือกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ทดสอบ “เตารีดไฟฟ้าและอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ” ที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พบบางยี่ห้อมีกำลังไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าไม่ตรงตามที่ระบุบนฉลาก เร่งเตือนภัยการใช้งานด้านความปลอดภัย
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA) จัดเสวนาวิชาการ เปิดผลการทดสอบ “เตารีดไฟฟ้าและอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ” ที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งผลการทดสอบพบว่าเตารีดไฟฟ้าและอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ (อะแดปเตอร์) ทุกยี่ห้อที่นำมาทดสอบผ่านการทดสอบทั้งหมด แต่มีข้อสังเกตในประเด็นเรื่องฉลากผลิตภัณฑ์และคู่มือการใช้งาน พบว่า ฉลากผลิตภัณฑ์และคู่มือการใช้งานของเตารีดไฟฟ้าที่นำมาทดสอบจากกลุ่มยี่ห้อในครั้งนี้ทั้งหมด 20 ยี่ห้อ มีจำนวน 16 ยี่ห้อ ที่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) มอก.366 – 2547 ส่วนที่เหลืออีก 4 ยี่ห้อ มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ มอก.366 – 2547 ส่วนผลทดสอบแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า พบว่า อะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือจากกลุ่มยี่ห้อที่นำมาทดสอบทั้ง 45 ยี่ห้อไม่พบค่าความผิดปกติ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการแนะนำว่าผู้บริโภคควรมีความรู้ในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับที่น่าเชื่อถือ และตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ให้เลือกอะแดปเตอร์ที่มีเครื่องหมาย มอก. เลขที่ มอก.62368 เท่านั้น
โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นการสร้างความร่วมมือกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกลไกการเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยและสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค เรื่องการให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ในปัจจุบันแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ถือเป็นช่องทางซื้อขายสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก ขั้นตอนการเลือกซื้อง่ายดาย มีการโฆษณาชวนเชื่อบ่อยครั้ง เชิญชวนผู้ซื้อ ทำการตลาดด้วยการลดแลกแจกแถม จัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขาย ด้วยสภาพตลาดในปัจจุบันที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยการตั้งราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการได้รับสินค้าที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามที่กฎหมายกำหนด อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากขาดความรู้และความตระหนักในเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติสินค้า ดังนั้นสภาผู้บริโภคจึงร่วมมือกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนาเปิดผลการทดสอบ “เตารีดไฟฟ้าและอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ” ที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอย่าง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานภาคประชาชนอย่างสภาผู้บริโภคเพื่อสร้างกลไกการเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยและสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค เรื่องการให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเตารีดไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เป็นมาตรฐานบังคับ คือ มอก.366 – 2547 ส่วนอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ เป็นกลุ่มสินค้าที่กำลังจะออกมาตรฐานบังคับใช้ คือ มอก.62368 เล่ม 1-2563 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
ด้าน ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ หัวหน้าโครงการทดสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ชี้แจงว่า ยี่ห้อสินค้าที่นำมาทดสอบ ‘เตารีดไฟฟ้าและอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ’ เป็นการสุ่มซื้อยี่ห้อสินค้าที่หาซื้อจากแพลตฟอร์มออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ถึง 20 พฤษภาคม 2566 และนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบ ความต่อเนื่องของสายไฟ, ความต้านทานฉนวน, กระแสไฟฟ้ารั่วไหล, กระแสไฟฟ้าทำงาน, กำลังไฟฟ้า และอุณหภูมิหน้าเตารีด แบ่งเป็นเตารีดไฟฟ้า จำนวน 20 ยี่ห้อ ได้แก่ HANABISHI, Hollo Kitty, OTTO, Panasonic, RAF, SHARP, Simplus, XINLIANXIN, Electolux, Accord, Ceflar, Tefal, Finext, Love star, FUJIKA, PHILIPS, SMARTHOME, SONAR, มิตซูมารู และ MY HOME มีการสุ่มซื้อผลิตภัณฑ์ช่วงราคาสินค้าเริ่มต้นตั้งแต่ชิ้นละ 199 บาทไปจนถึง 940 บาท
โดยผลทดสอบเรื่องความต้านทานและกระแสไฟฟ้ารั่วไหล พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เลขที่ มอก.366-2547 ทั้ง 20 ยี่ห้อ ส่วนการทดสอบเกี่ยวกับกำลังไฟฟ้า พบว่า 18 ยี่ห้อ มีค่ามากกว่าใบรายละเอียดที่ระบุบนสินค้า (Specification) ส่วนที่เหลืออีก 2 ยี่ห้อ มีค่ากำลังไฟฟ้าน้อยกว่าที่ระบุบนรายละเอียดของสินค้า อย่างไรก็ตาม ค่ากำลังไฟ ณ ขณะที่ทำการทดสอบสินค้าจะไม่ได้ทดสอบขณะทำงานจริงและทำให้ค่าที่เทียบออกมาอาจไม่ใช่ค่ากำลังไฟที่แท้จริง ส่วนการทดสอบกระแสไฟฟ้า พบเตารีดไฟฟ้าทั้ง 20 ยี่ห้อ มีค่ากระแสไฟฟ้ามากกว่าใบรายละเอียดของสินค้า (Specification)
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการทดลองให้ข้อคิดเห็นว่า รูปแบบการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ผู้บริโภคมักมีการใช้อุปกรณ์ปลั๊กพ่วงซึ่งมีเต้าเสียบหลายช่อง เพื่อความสะดวกในการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภทในเวลาเดียวกัน การพิจารณาเรื่องกระแสไฟฟ้าทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องจึงมีความสำคัญต่อการรองรับกระแสไฟฟ้ารวมของปลั๊กพ่วง หากมีความจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าร่วมกันและกระแสไฟฟ้าเกินกำลังการรองรับของเต้ารับ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เมื่อพิจารณาในประเด็นเรื่องฉลากผลิตภัณฑ์และคู่มือการใช้งาน พบว่า ฉลากผลิตภัณฑ์และคู่มือการใช้งานของเตารีดไฟฟ้าที่นำมาทดสอบ 16 จาก 20 ยี่ห้อเป็นไปตาม มอก.366 – 2547 กำหนด ส่วนที่เหลืออีก 4 ยี่ห้อ มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ มอก.366 – 2547
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำถึงวิธีการเลือกเตารีดให้ปลอดภัย โดยเริ่มจากมองหาเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ มอก. เลขที่ 366-2547 และฉลากต้องระบุชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือเครื่องหมายการค้า แรงดันไฟฟ้า ความถี่ กำลังไฟฟ้า และอื่นๆ ตามที่ระบุใน มอก. ในส่วนของปลั๊กต้องไม่แตกร้าว สายไฟที่ขั้วปลั๊กต้องไม่หักหรือชำรุด รวมถึงมีระบบป้องกันไฟฟ้าช็อต สายไฟที่ต่อเข้าเตารีดต้องต่อสายให้แน่น ปลอกฉนวนยางที่หุ้มสายต้องไม่ชำรุด เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่วไหล เสียบปลั๊กไฟเข้ากับเต้ารับให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนสูงที่ปลั๊กไฟและเต้ารับ ห้ามใช้สายไฟฟ้าแบบอ่อน ให้เลือกใช้สายไฟฟ้าเฉพาะ ที่มีฉนวน2ชั้นที่สามารถทนความร้อนได้ และขณะใช้เตารีด ควรยืนอยู่บนฉนวนเพื่อป้องกันไฟดูด เช่น แผ่นยาง เป็นต้น
ส่วนการทดสอบผลิตภัณฑ์อะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือทดสอบ แรงดันไฟฟ้า, กระแสไฟฟ้า, ความต้านทานฉนวน และกระแสไฟฟ้ารั่วไหล จำนวนรวม 45 ยี่ห้อ ได้แก่ QPlus, TECHPRO, INNOSTYLE, ASAKI, BELKIN, WHY, APPLE, XIAOMI, ENERGEA, ANKER, BAZIC, WEALTH, HALE, RIZZ, WK, dprui, ACEFAST, SAMSUNG, DEVIA, WIWU, VEGER, SENDEM, ENERGY, BLL, XO, CLASIO, USAMS, STUFF, LDNIO, IMILAB, ELOUGH, hoco, AUKEY, eloop, Baseus, OUKU, KINGKONG, MAiMi, KUULAA, BASIKE, commy, UGREEN, ESSAGER, OWIRE และ ViVO มีการสุ่มซื้อผลิตภัณฑ์ช่วงราคาสินค้าเริ่มต้นตั้งแต่ชิ้นละ 77 บาทไปจนถึง 1,690 บาท
ผลทดสอบแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า พบว่า อะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือจากกลุ่มยี่ห้อที่นำมาทดสอบทั้ง 45 ยี่ห้อไม่พบค่าความผิดปกติ โดยมีค่าอยู่ในช่วงที่ระบุตามรายละเอียดบนผลิตภัณฑ์
ขณะที่การทดสอบกระแสไฟฟ้ารั่วไหลนั้น มีการแบ่งออกเป็นดังนี้
– ผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะ USB type A รวม 21 ยี่ห้อ มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลไม่เกินค่ามาตรฐานทั้ง 21 ยี่ห้อ
– ผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะ USB type C รวม 13 ยี่ห้อ ไม่สามารถทำการทดสอบได้ทั้ง 13 ยี่ห้อ เนื่องจากห้องทดลองยังไม่รองรับการทดสอบของ USB type C
– ผลิตภัณฑ์ที่มีทั้ง USB type A และ type C รวม 11 ยี่ห้อ กระแสไฟฟ้ารั่วไหลของ USB type A ไม่เกินค่ามาตรฐานทั้ง 11 ยี่ห้อ ส่วนที่เป็น USB type C ไม่สามารถทำการทดสอบได้ทั้ง 11 ยี่ห้อ เนื่องจากห้องทดลองยังไม่รองรับการทดสอบของ USB type C
ส่วนการทดสอบความต้านทานฉนวนเพื่อพิจารณาว่ามีความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร แบ่งเป็น
– ผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะ USB type A รวม 21 ยี่ห้อ มีความต้านทานฉนวนมากกว่าค่ามาตรฐานทั้ง 21 ยี่ห้อ
– ผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะ USB type C รวม 13 ยี่ห้อ ไม่สามารถทำการทดสอบได้ทั้ง 13 ยี่ห้อ เนื่องจากห้องทดลองยังไม่รองรับการทดสอบของ USB type C
– ผลิตภัณฑ์ที่มีทั้ง USB type A และ type C รวม 11 ยี่ห้อ มีความต้านทานฉนวนของ USB type A มากกว่าค่ามาตรฐานทั้ง 11 ยี่ห้อ ส่วนที่เป็น USB type C ไม่สามารถทดสอบได้ทั้ง 11 ยี่ห้อ เนื่องจากห้องทดลองยังไม่รองรับการทดสอบของ USB type C
นอกจากนี้ การทดสอบความต้านทานฉนวนเป็นการทดสอบเพื่อพิจารณาว่ามีความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญในการทดสอบประเด็นนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากหากมีค่าความเป็นฉนวนต่ำก็เป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีไฟรั่วได้ เช่น กรณีที่มีข่าวผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชาร์จโทรศัพท์มือถือและใช้งานโทรศัพท์มือถือระหว่างการชาร์จไปด้วยแล้วเกิดเหตุไฟรั่วจากสายชาร์จ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรมีความรู้ในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับที่น่าเชื่อถือ จะสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการใช้งานให้กับผู้บริโภคได้
โดยผู้บริโภคควรเลือกอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์ให้ปลอดภัยต้องเช็กปริมาณไฟขาเข้า หากปริมาณไฟขาเข้าที่แตกต่างกัน ทำให้ส่วนมากจะเกิดอาการหัวชาร์จไหม้ได้ แม้ว่าหัวชาร์จใหม่ ๆ ส่วนมากจะเป็น Smart Charger กันหมดแล้ว แต่หากซื้อมาจากต่างประเทศและเมื่อกลับไทยหากพบว่าไม่ใช่แบรนด์ดัง อย่างเช่น หัวชาร์จ Apple หัวชาร์จ Samsung หรือระดับเทียบเท่ากัน แนะนำให้ลองหาซื้อใหม่ในไทยเพื่อความปลอดภัย และเช็กปริมาณไฟขาออกว่าตัวหัวชาร์จสามารถขับไฟออกได้เท่าไร กระแสเท่าไรก็มาจาก W และ A ของตัวอะแดปเตอร์ โดยหัวชาร์จมือถือทั่วไปจะเริ่มต้นที่ 5 W ไปจนถึง 20 W สำหรับหัวชาร์จเร็ว (Fast Charger) ส่วนกระแสนั้นเลือกให้สัมพันธ์กับสายชาร์จ เช่น ถ้าใช้สาย 2.1 A ตัวหัวก็ควรเป็น หัวชาร์จ 2.1 A เป็นต้น ที่สำคัญเช็กสัญลักษณ์ Certified ต่าง ๆ เช่น MFI, UL, IEC, FCC, CE และ RoHS เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ให้เลือกอะแดปเตอร์ที่มีเครื่องหมาย มอก. เลขที่ มอก.62368 เท่านั้น
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจษฎา สายใจ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จากการทดสอบเตารีดตามมาตรฐานความปลอดภัย เช่นไฟฟ้ารั่ว ทั้ง 20 ยี่ห้อ ผ่านการทดสอบทั้งหมด โดยมีข้อสังเกตคืออาจมีบางยี่ห้อที่ไม่ตรงในรายละเอียดที่ระบุบนสินค้า เช่น จากฉลากบอกจ่ายไฟได้ 1,000 ความจริงจ่ายได้มากหรือน้อยกว่าที่กล่าวไว้ แต่ค่าไม่เป็นอันตรายและไม่ตกจากมาตรฐาน ในส่วนของอะแดปเตอร์ มาตรฐานที่เอามาใช้คือมาตรฐานต่างประเทศ เช่น IEC หรือมาตรฐานของออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่กำลังจะเนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่กำลังจะออกมาตรฐานบังคับใช้ คือ มอก.62368 เล่ม 1-2563 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป แต่ด้วยข้อจำกัดจึงทดสอบได้เพียง USB type A
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนเข้าใจผิดว่าที่หัวชาร์จ 2 พอร์ต ทำให้ประหยัดไฟและชาร์จแบตได้เร็วกว่าหัวชาร์จ 1 พอร์ต ความจริงแล้วมีระยะเวลาในการชาร์จที่เท่ากัน เพียงแต่การชาร์จแบบหัวชาร์จ 2 พอร์ต เป็นการแบ่งการจ่ายไฟ ยี่ห้อเช่น หัวชาร์จ 1 พอร์ต จ่ายไฟได้ 50 วัตต์ แบบหัวชาร์จ 2 พอร์ต จะจ่ายเป็นหัวละ 25 วัตต์ ซึ่งอาจจ่ายไฟช้ากว่าหัวชาร์จ 1 พอร์ต และไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ทั้งนี้ ต้องดูการใช้งาน เลือกใช้ให้เหมาะสม ทั้งการใช้หัวชาร์จ 1 พอร์ต และ 2 พอร์ต รวมถึงกำลังไฟฟ้า