สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สั่งถอนใบอนุญาต 3 ตัวแทนประกันชีวิตของอลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต หลังสภาผู้บริโภคร้องให้ตรวจสอบตัวแทนเสนอขายกรมธรรม์ ด้วยการแอบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ปกครองนักเรียนที่ได้จากแบบสำรวจข้อมูลซึ่งแนบไปกับการบ้านของนักเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากกรณีการร้องเรียนของผู้ปกครองนักเรียนหลายรายจากหลายภูมิภาค ผ่านเฟซบุ๊กเพจดราม่าแอดดิก (Drama-addict) ที่ระบุว่าผู้ปกครองนักเรียนถูกเสนอขายประกันจากตัวแทนประกัน ซึ่งมีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ตัวแทนประกันได้จากแบบสำรวจข้อมูลการวางแผนอนาคตการศึกษาของบุตรที่คุณครูให้นักเรียนทำใบงานระบายสีรูปภาพ และแทรกแบบสำรวจข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ปกครองกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งผู้ปกครองนักเรียนเข้าใจว่าเป็นการบ้านที่คุณครูให้นักเรียนทำจึงกรอกข้อมูลในแบบสำรวจนั้น
วันนี้ (17 มิถุนายน 2567) นายโชติวิทย์ เกิดสนองพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค ระบุว่า คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แจ้งว่า ทางสำนักงานได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่กระทำผิดกรณีดังกล่าวเป็นจำนวน 3 รายแล้ว ได้แก่ นางสาวฐิติชญา มาโรจน์ นางสาวภิภัคตรา ภูมรินทร์ และนายธวัช ธิตะชัญโญ
ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 สภาผู้บริโภคได้เรียกร้องต่อเลขาธิการ คปภ. ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อบริษัทประกันภัย ตัวแทนประกันภัย และนายหน้าประกันภัยที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ตลอดจนการลงโทษขั้นสูงสุดตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535, พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขอให้มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบรูปแบบวิธีการขายประกันของตัวแทนประกันและนายหน้าประกันในฐานะผู้บริโภคทั่วไป อย่างไรก็ตามบริษัทอลิอันซ์ฯ ได้บอกเลิกสัญญาตัวแทนประกันรายดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกัน
ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านการเงินฯ ระบุอีกว่า การที่เรียกร้องให้ คปภ. มีการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีข้างต้นนั้น เนื่องจากสภาผู้บริโภคได้พิจารณาและมีความคิดเห็นว่า กรณีการเสนอขายประกันภัยของตัวแทนประกันและนายหน้าประกันใช้วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลโดยไม่สุจริต มีการใช้เทคนิคหลอกว่าเป็นการบ้าน ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนไม่ทราบว่าการทำแบบสำรวจดังกล่าวเป็นข้อมูลในการเสนอขายประกันและไม่ได้มีความสมัครใจในการทำแบบสำรวจ
“การกระทำตัวแทนประกันหรือนายหน้าประกันที่ไม่แจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล การใช้ข้อมูล โดยเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมอาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 และอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย 2535 พระราชบัญญัติประกันชีวิต 2535 หากผู้บริโภคพบเหตุการณ์ในลักษณะนี้หรือถูกบังคับในการทำประกันสามารถใช้สิทธิผู้บริโภคร้องเรียนได้ทันที” นายโชติวิทย์ ระบุ
ทั้งนี้ ในหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบของ คปภ. ได้มีการกำชับผ่านสมาคมที่เกี่ยวข้องและบริษัทประกันภัย ให้ตัวแทนและนายหน้าประกันภัยใช้ความระมัดระวังในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่ละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวไว้ในข้อสอบสำหรับการขออนุญาตและในหลักสูตรการอบรมเพื่อต่อใบอนุญาตร่วมด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจได้ว่าตัวแทนและนายหน้าประกันภัยจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความผิด และบทลงโทษ รวมทั้งมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจตระหนักรู้ถึงกฎหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล