หมูแพง น้ำมันแพง บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแพง แต่ค่าแรงถูก เงินเดือนเท่าเดิม ผู้บริโภคไทยทั่วไป หรืออาจจะทั่วโลกกำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน
ที่เรียกว่า ‘เงินเฟ้อ‘ สามารถสร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก
เรามาทำความเข้าใจคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ กันดีกว่า
‘เงินเฟ้อ’ เป็นภาวะเศรษฐกิจที่ระดับสินค้าและบริการมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวแกง อดีตราคาจานละ 30 บาท แต่ปัจจุบันราคา 40 บาท หมายความว่า ราคาข้าวแกงแพงขึ้น 33.33% จากที่ผู้บริโภคเคยซื้อข้างแกงได้ 3 มื้อ/วัน เหลือแค่ 2 มื้อ ต้องอด 1 วัน หรือ ค่าน้ำมันที่เคยราคาลิตรละ 30 บาท แต่ทยอยขึ้นมาแตะ 40 บาท แต่ผลกระทบต่อประชาชนหนักกว่าราคาอาหาร เพราะราคาน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการแทบทุกชนิด ซึ่งทำให้ดันอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปให้สูงยิ่งขึ้น
‘เงินเฟ้อ’ ซึ่งมีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ มี ดังนี้
1. ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Cost-Push Inflation) เช่น ราคาพลังงาน ค่าจ้าง วัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ที่สูงขึ้น ถ้าหากว่าสินค้าและบริการทุกอย่างขึ้นราคาจะดึงอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อย จนถึงขั้นเลวร้ายที่สุด คือ ภาวะเงินเฟ้อมหันตภัย (Hyperinflation) ที่เคยเกิดขึ้นใน ประเทศเยอรมันนี ในปี ค.ศ. 1920 ที่อัตราเงินเฟ้อทะยานสูงขึ้นไปถึง 29,525.71% ขนาดที่ต้องใช้รถเข็นลากเงินไปจับจ่ายใช้สอย และที่เกิดขึ้นที่ประเทศซิมบับเว ในปี ค.ศ. 2008 ที่อัตราเงินเฟ้อไต่ขึ้นไปเดือนละ 2600.2% ต่อเดือนทุกเดือน
2. ความต้องการสินค้าและบริการสูงกว่าความสามารถในการผลิตมาสนองตอบ (Demand-Pull Inflation) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสินค้า เช่น มีความต้องการน้ำมันพืชมากในตลาด แต่การผลิตน้ำมันพืชออกมาไม่ทันความต้องการ เป็นต้น
3. การลดค่าเงิน (Devaluation) ทำให้สินค้าและวัตถุดิบการนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ซึ่งหากเปรียบเทียบในปัจจุบันคือค่าเงินบาท ที่เคยแลกเปลี่ยนกับดอลล่าร์สหรัฐที่ 32 บาท ขณะนี้อยู่ที่ 36 บาท ซึ่งหมายถึงสินค้าจากต่างประเทศที่เคยใช้เงินซื้อจากต่างประเทศด้วยราคา 320 บาท ก็ต้องจ่ายที่ 360 บาท เป็นต้น
4. การขอหรือเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง (Built-In Inflation) ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม ราคาสินค้าและบริการขึ้นราคาตาม เช่น ภายในเดือนตุลาคมนี้ หากค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 5.8% ตามที่ กระทรวงแรงงานเสนอ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าขึ้น และตามมาด้วยราคาสินค้าขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำราคาสินค้าและบริการทุกชนิดที่มีราคาสูงขึ้นมาเฉลี่ยจะได้ตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ ที่ก่อให้เกิด ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ หมายความว่า ค่าของเงินในกระเป๋าสามารถซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง หากว่าเงินเดือนเท่าเดิมไม่ได้รับการปรับขึ้นตามอัตราของเงินเฟ้อ อาทิ จากที่เคยกินข้าวอิ่มราคารถูก ก็ต้องกินข้าวแกงราคาแพงขึ้น คุณภาพชีวิตลดลง อาจจะต้องหาแหล่งเงินกู้มาชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ สร้างผลกระทบต่อชีวิตเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ประจำ หรือมนุษย์เงินเดือน ผู้สูงวัยที่เกษียณอายุ และรับเงินประกันสังคม หรือเงินบำนาญที่ตายตัวเป็นรายเดือน หรืออาศัยรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หรือ ซื้อพันธบัตรของรัฐบาลมายังชีพ ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้มาเป็นตัวเงินตายตัวจะมีค่าซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ราคาบ้านและค่าเช่าจะสูงขึ้นจนจับต้องไม่ได้
ดังนั้น ผู้บริโภคทุกคนจึงควรตั้งความหวังว่า ‘เงินเฟ้อ’ ครั้งนี้จะอยู่ไม่นาน
แต่ตราบเท่าที่ราคาน้ำมันยังแพง โอกาสที่อัตรา ‘เงินเฟ้อ’ ลดลงจึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการเงินการคลังด้านการขึ้นดอกเบี้ย หรือซื้อพันธบัตรจากตลาดคืนกลับสู่กองคลังก็ตาม
ตราบเท่าที่ไม่สามารถกำกับราคาน้ำมันและราคาพลังงานทุกอย่างให้ถูกลงได้
ตราบเท่าที่ไม่สามารถกำกับราคาค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าทางด่วน ทางพิเศษ ค่ามอเตอร์เวย์ ค่ารถไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าให้ถูกลงตามอัตรารายได้ที่ไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และค่าจ้างขั้นต่ำ
ตราบนั้นประชาชนต้องเตรียมตัวเผชิญภาวะค่าครองชีพสูงที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บทความ โดย คุณกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค