3 หน่วยงาน จับตา ‘แอปฯ TEMU’ ขายสินค้าถูก เสี่ยงคุณภาพ ไม่ปลอดภัย

สภาผู้บริโภค หารือร่วม สมอ. สคบ. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือยกระดับมาตรฐานสินค้า ลดปัญหาผู้บริโภคถูกละเมิดจากสินค้าเสี่ยงอันตราย หลังพบปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐานระบาดหนัก พร้อมจับตาแอปฯ TEMU ขายสินค้าไม่มีคุณภาพ ด้านสภาผู้บริโภคพร้อมสื่อสาร เตือนภัย ให้ข้อมูลให้แก่ผู้บริโภค เพื่อช่วยให้มีข้อมูลสำหรับตัดสินใจก่อนเลือกซื้อสินค้า

จากสถานการณ์ที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญความเสี่ยงจากการใช้สินค้าไม่มีคุณภาพ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ประชุมร่วมกับอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไปของสภาผู้บริโภค รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาผู้บริโภค เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 จาก สมอ. เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบการขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน ‘เทมู (TEMU)’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนที่เน้นการขายสินค้าโดยตรงจากโรงงานสู่ผู้บริโภค (Business to Customer: B2C) พบว่าสินค้าส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานสินค้า ส่งผลให้เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคและผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยในประเทศที่อาจแข่งขันไม่ได้

“แม้ว่าสินค้าที่ได้มาจากโรงงานจีนโดยตรงจะมีราคาถูก แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และอาจกลายเป็นขยะเพิ่มขึ้น” นายนนทิชัย ระบุ

เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันของ สมอ. ยังไม่ครอบคลุมไปธุรกิจ B2C อย่างเต็มที่ สมอ. จึงเห็นความสำคัญของการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภค เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ ในระหว่างที่ สมอ. กำลังดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ สมอ. ยังได้ขอความร่วมมือจากสภาผู้บริโภค ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศ ในการเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ สมอ. ได้เชิญสภาผู้บริโภคร่วมเป็นกระบอกเสียงแทนผู้บริโภคในการประชุมต่าง ๆ และรับฟังความคิดเห็นก่อนการกำหนดมาตรฐานใหม่

ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 ระบุว่า ขอฝากถึงผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์หรือสินค้านำเข้าที่มีการนำมาวางขายในประเทศไทย ต้องสังเกตเครื่องหมาย มอก. ที่มาพร้อมกับเครื่องหมายคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วทุกคนจะสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต ข้อมูลผู้ประกอบการได้ รวมถึงสามารถร้องเรียนปัญหาได้อีกด้วย หรือในกรณีที่พบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. หรือมีเครื่องหมายแล้วแต่ยังไม่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งไปที่ สมอ. และสามารถรับสินบนนำจับได้ ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยมีเงื่อนไขว่าต้องแจ้งข้อมูลให้ชัดเจน

ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคพร้อมสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค โดยจะกระจายข่าวสารผ่านเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ทั้งนี้ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแก่ผู้บริโภคนั้น นอกจากจะเป็นภารกิจหลักของสภาผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างปลอดภัย

นายอิฐบูรณ์ กล่าวเสริมว่า หากหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคสำหรับการแจ้งเตือนภัยหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า สามารถส่งให้สภาผู้บริโภคช่วยดำเนินการได้ เนื่องจาก ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาผู้บริโภค ‘แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือ ชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้’ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้ และลาซาด้า ควรมีการแสดงหรือระบุรายละเอียดของเครื่องหมายมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบก่อนที่จะซื้อสินค้าได้ หากไม่ปฏิบัติตาม จะถือเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งทุกแพลตฟอร์มสาธารณะควรมีธรรมาภิบาลในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งบางรายการอาจไม่ผ่านมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงจากการเลือกซื้อสินค้าไม่ผ่านการรับรอง คุณภาพต่ำ ดังนั้น จึงเห็นว่าการแบ่งกลุ่มสินค้าเพื่อแจ้งเตือนภัยและการบังคับใช้มาตรฐานกับสินค้าต่าง ๆ รวมถึงสินค้าที่นำเข้ามาขายในประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการยกระดับความรู้ของผู้บริโภค ซึ่งการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ผู้บริโภคจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าได้ นอกจากนี้ หากเกิดความร่วมมือระหว่าง สมอ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสภาผู้บริโภค จะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้และช่วยสอดส่องเฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนั้น สภาผู้บริโภคได้จัดประชุมเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ สมอ. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการประชุมข้างต้น ผู้แทนจากสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานกลายเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานและชำรุดบกพร่องมีกว่า 500 กว่าเรื่อง โดยสภาผู้บริโภคได้ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับข้อมูลสัญลักษณ์มาตรฐานบังคับและสมัครใจ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พร้อมทั้งเรียกร้องให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าต่าง ๆ มีความรับผิดชอบในการตรวจสอบและแจ้งให้คนขายแสดงฉลากและรายละเอียดของสินค้าที่ชัดเจน

ส่วนผู้แทนจาก สมอ. รับผิดชอบในการกำกับดูแลมาตรฐานของสินค้าทั้งในออนไลน์และหน้าร้าน โดยมีการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งการผลักดันมาตรฐานสินค้าเพิ่มอีกกับสินค้าที่กำลังเป็นที่ยอดนิยมและมีความเสี่ยงที่ส่วนประกอบของสินค้าชนิดนั้นจะเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ เช่น พัดลมไฟฟ้า และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค สมอ. อยู่ระหว่างจัดการตรวจสอบสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงการหาวิธีการที่จะผลักดันให้การประกาศมาตรฐานมีขั้นตอนที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ส่วนผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการสืบสวนสินค้านำเข้าที่อาจมีความเสี่ยง รวมถึงปัญหาการจัดทำฉลากสินค้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และในอนาคตมีแผนการทำงานที่จะนำสินค้ามาทดสอบเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลใช้ในการตัดสินใจแต่พบข้อจำกัดด้านงบประมาณ อย่างไรก็ตาม สคบ. มีการประสานงานกับแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้แสดงข้อมูลของสินค้าและจัดทำฉลากสินค้าที่ถูกต้อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าอันตรายและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมไทย และนักวิชาการได้เสนอให้มีการบังคับใช้มาตรฐานสินค้าในสินค้าที่มีส่วนประกอบที่อาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น กรณีของส่วนประกอบของที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันยังมีบางชิ้นส่วนที่ยังเป็นเพียงการกำหนดมาตรฐานสมัครใจเท่านั้น แต่ต้องการให้กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ โดยเห็นอาจต้องมีการสำรวจ วิเคราะห์ และเข้าไปควบคุมที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันอันตราย ยกระดับความปลอดภัย และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่มีมาตรฐานและลดความเสี่ยงจากการใช้สินค้า ทั้งนี้ การสื่อสารเพื่อเตือนภัยและเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน นอกจากนี้ยังเห็นว่าการบังคับใช้มาตรฐานและการจัดการกับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจะช่วยยกระดับความปลอดภัยและลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสรุปในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือเพื่อยกระดับสินค้ามาตรฐานสินค้านั้นจะมีการดำเนินการดังนี้ 1. ร่วมกันพิจารณาสินค้าว่าสินค้าใดควรออกมาตรฐานบังคับ เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภคจากสินค้าที่อาจเกิดอันตราย โดยอาจเริ่มจากสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและกลุ่มเครื่องมือช่างก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคใช้บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน 2. ประชาสัมพันธ์และสื่อสารข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบถึงความสำคัญของเครื่องหมาย มอก.ภาคบังคับและภาคสมัครใจ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยแก่ผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคนำข้อมูลไปพิจารณาก่อนเลือกซื้อสินค้า โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสมอ. สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีร่วมด้วย และ 3. นำแนวทางข้อเสนอการแสดงฉลากบนแพลตฟอร์มขายสินค้าบนออนไลน์ในประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างในการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลแพลตฟอร์มใช้เป็นรูปแบบเพื่อกำหนดให้แพลตฟอร์มที่ขายสินค้าในประเทศต้องแสดงฉลากหรือข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งในที่ประชุมลงความคิดเห็นว่าแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์มีแนวโน้มที่จะดำเนินการตามข้อกำหนด