ผักผลไม้นำเข้า สารเคมีเพียบ ปัญหาระบบ คนปล่อยปละ

มาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในสินค้าเกษตรนำเข้าไร้ประสิทธิภาพ ประเด็นร้อนสารเคมีตกค้างในองุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ สะท้อนการทำงานภาครัฐ สภาผู้บริโภคเสนอแก้ พ.ร.บ.อาหาร เพิ่มมาตรการจัดการอาหารไม่ปลอดภัย

จากกรณีมีการตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนในองุ่นไชน์มัสแคทในปริมาณมากที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมว่าองุ่นปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้ เข้ามาประเทศไทยได้อย่างไร ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ในฐานะนักวิชาการจัดทำร่างพระราชบัญญัติอาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค ได้เสนอข้อมูลมาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้าของไทยและต่างประเทศ โดยเริ่มจากมาตรการของต่างประเทศ ที่มีวิธีการตรวจสอบสินค้าที่เข้มงวดและมีระบบที่ออกแบบมา เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่นำเข้ามาจะเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระบบ

  1. การเก็บข้อมูลล่วงหน้า: ประเทศที่นำเข้าสินค้าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่จะรับจากประเทศผู้ส่งออก เช่น การใช้สารเคมีในการผลิต โดยเฉพาะในกรณีของสินค้าเกษตร เช่น จีนจะนำเข้าทุเรียนจากไทย ก็ต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารต่าง ๆ ในการผลิตของเกษตรกรไทย เพื่อใช้ชุดทดสอบที่เหมาะสมในการหาสารเคมีชนิดนั้น
  2. การขึ้นทะเบียนสวนผลไม้: ซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งออกในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อส่งออกไปยังประเทศที่มีมาตรการควบคุมเข้มงวด เช่น ญี่ปุ่นและจีน จะมีการกำหนดให้สวนที่ผลิตผลไม้ต้องขึ้นทะเบียนก่อนที่จะสามารถส่งออกได้ หากไม่ขึ้นทะเบียน สินค้าจะไม่สามารถเข้าประเทศนั้นได้
  3. จัดระบบบัญชีขาว: ก่อนนำเข้าสินค้าจะมีการนำสินค้าไปตรวจสอบก่อน ถ้าตรวจแล้วผ่านมาตรฐานทุกครั้ง จะมีการบันทึกและขึ้นเป็นบัญชีรายการที่อนุญาต หรือบัญชีขาว (whitelist) ทำให้ครั้งต่อไปเมื่อผ่านการสุ่มตัวอย่างแล้วก็ปล่อยให้กระจายไปในประเทศได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกทำสินค้าให้มีมาตรฐาน เพราะหากส่งออกสินค้าไม่มีมาตรฐาน จะถูกขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์และตีกลับสินค้า
  4. อบรมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ: ประเทศนำเข้าสินค้าจะมีการทำความร่วมมือกับประเทศส่งออกสินค้า โดยการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ประเทศส่งออก เพื่อให้ตรวจสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนด เหมือนการเซ็ตระบบตั้งแต่ก่อนนำเข้าสินค้า

การขึ้นทะเบียนจะช่วยให้ประเทศผู้นำเข้ามีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งผลิต และมาตรฐานของผลไม้ที่นำเข้า ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของผลไม้ที่นำเข้า ก็สามารถระบุสวนที่มีปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และดำเนินตามมาตรการ เช่น การขึ้นแบล็คลิสต์สวนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เรียกว่าเป็นมาตรการป้องกันตั้งแต่ของยังไม่เข้าประเทศเขาเลย” ภก.วรวิทย์ กล่าว

เมื่อถามถึงมาตรการของประเทศไทย ภก.วรวิทย์ ให้ข้อมูลว่า หากพูดถึงระบบตรวจสอบของประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีระบบเหมือนอย่างต่างประเทศ อาจมีเพียงการสุ่มตรวจ หรือตรวจแลปสกรีนนิ่ง หรือเป็นเพียงชุดทดสอบธรรมดาที่ไม่ได้ครอบคลุมสารเคมีทุกตัว ซึ่งปัญหาที่ทำให้ยังพบสารตกค้างในผลไม้ ยกตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท เป็นเพราะหนึ่งไม่ได้ตรวจ สองตรวจด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้ไม่เจอสารตกค้าง

นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นถึงประเด็นเรื่องความซื่อสัตว์สุจริตของเจ้าหน้าที่ เพราะต่อให้มีระบบที่ดีแต่ถ้ามีการทุจริตกันภายใน ระบบที่ดีก็ไม่ช่วยอะไร ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ

แม้ว่า ประเทศไทยจะยังไม่มีระบบเหมือนอย่างต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหานี้ สภาผู้บริโภคได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้มีกลไกจัดการอาหารที่ไม่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและสามารถปฏิบัติได้จริง ภก.วรวิทย์ ในฐานะคณะทำงาน (ร่าง) พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายนี้ มีการกำหนดให้หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง อย.นั้นต้องทำแบบต่างประเทศ คือต้องจัดทำแผนพัฒนาความปลอดภัยการบริโภคอาหาร เช่น แผนการรับมือการนำอาหารที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดอย่างเป็นระบบ รวมถึงระบบเตือนภัยอาหารไม่ปลอดภัย  

“กฎหมายโดยส่วนใหญ่มักจะกำหนดว่าผู้บริโภคต้องมีหน้าที่ทำอะไรหรือห้ามทำอะไร แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้บอกว่าหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คุณต้องทำอะไรเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งก็เป็นแนวที่ไม่ใช่ว่าเพิ่งมี และในต่างประเทศหน้าที่นี้ก็เป็นเรื่องปกติของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะถือว่าราชการคือเป็นผู้รับใช้สังคม”

ส่วน ผู้ประกอบธุรกิจ กรณีที่พบว่าอาหารไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ต้องเรียกเก็บออกจากตลาดได้ทันที พร้อมเสนอแผนจัดเก็บจากท้องตลาด และแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ นอกจากนี้ หากผู้บริโภคต้องส่งคืนสินค้า จะต้องได้รับชดใช้ราคาค่าอาหารที่ถูกเรียกคืนและค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืน และกรณีอาหารที่นำเข้ามาต้องติดฉลากแสดงระบุแหล่งที่มา และประเทศต้นทางของสินค้านำเข้า เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อเกิดปัญหา และฉลากต้องเป็นภาษาไทย

“ร่างกฎหมายส่วนที่เราเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องชดเชย เพราะว่าคุณเป็นคนรับประโยชน์ ตอนได้คุณได้แต่ตอนมีปัญหาขึ้นมาคุณไม่รับผิดชอบอะไรเลยไม่ได้ เพราะฉะนั้นสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อไป เขาเอามาคืนคุณ คุณก็ต้องคืนราคาสินค้าเขาไป จะให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ฝ่ายเดียวไม่ได้ และเพื่อสร้างมาตรฐานให้ผู้ประกอบธุรกิจก่อนจะขายอะไรต้องตรวจสอบให้ดีก่อน”

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่เรื่องสารเคมีตกค้างในองุ่น แต่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังพบปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูราคาถูกจากต่างประเทศโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ และยังพบการทุจริตภายในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อเกษตรกร และผู้บริโภค