ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพฯ เดือน มี.ค. 67

เตรียมจัดเวทีหารือแนวทางการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านบริการสุขภาพ ยกระดับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้ทัดเทียมสิทธิหลักประกันสุขภาพ

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เห็นชอบให้จัดหารือกับคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนชุดใหม่ ในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 – 17.00 น. เพื่อผลักดันข้อเสนอการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านบริการสุขภาพ ในด้านทันตกรรม และการรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นแนวทางการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคม และการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน

หลังคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพฯ เห็นว่า สิทธิการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนได้รับยังไม่เพียงพอ และเมื่อคณะกรรมการประกันสังคมชุดเดิมได้หมดวาระและได้มีการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ แล้วจึงเห็นว่าควรมีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายยกระดับสิทธิประกันสังคมกับคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจากผู้ประกันตน

ประกอบกับข้อมูลที่คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ได้ส่งข้อเสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคถึงสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อขอให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนให้ทัดเทียมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น สิทธิด้านทันตกรรม ด้านการรักษาโรคมะเร็ง ที่ยังถูกจำกัดวงเงินการรักษา และในหลายครั้งผู้บริโภคต้องสำรองจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา และ สปส. ได้ให้ข้อมูลว่า

“ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ในกรณีทันตกรรม ในอัตราจ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี และสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 22,000 แห่ง โดยในปี 2564 มีผู้ประกันตนใช้บริการทันตกรรมเกือบ 3 ล้านครั้ง และยืนยันว่าการจัดบริการทางการแพทย์ถูกออกแบบเหมาะสมกับลูกจ้างแรงงาน และได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การให้บริการการแพทย์กรณีการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิดตามแนวทางที่กำหนดหรือกรณีอื่นที่มีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็งและหรือเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา สปส. จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี”

ดังนั้น คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพฯ จึงเห็นว่าต้องมีการเร่งรีบผลักดันให้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมเท่าเทียมกับสิทธิหลักประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ ในส่วนของความคืบหน้าข้อเสนอนโยบายยกระดับสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้จัดทำข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ตามแผนการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างสภาผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน และ สปสช. นั้น นโยบายดังกล่าวเข้าสู่ระยะที่ 2 มีการขยายพื้นที่เพิ่มจำนวนใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ดำเนินการผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง หน่วย 50(5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่ สปสช. เขตพื้นที่