รับทราบผลการผลักดันนโยบายสิทธิประโยชน์การให้อาหารทางการแพทย์ (อาหารเหลวทางสายยาง) แนวทางแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลน และสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของกองทุนประกันสังคม
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 6/2567 มีการติดตามความก้าวหน้าในการผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ
การผลักดันนโยบายเรื่องสิทธิประโยชน์การให้อาหารทางการแพทย์ (อาหารเหลวทางสายยาง) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคส่งหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอให้พิจารณาจัดหาและบรรจุอาหารทางการแพทย์ (อาหารเหลวทางสายยาง) เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 สปสช. ได้ตอบกลับมายังสภาผู้บริโภคแจ้งข้อมูลว่า กรณีเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การใช้อาหารเหลวทางสายยาง อาหารทางการแพทย์ที่ให้ทางปากหรือทางสายยาง เป็นไปตามแนวทางการรักษาของแพทย์ โดยค่าอาหารสามารถเบิกจ่ายรวมกับค่าห้อง ในอัตราค่าบริการสาธารณสุขตามสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลได้ กรณีใช้นอกโรงพยาบาล สามารถใช้งบประมาณ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
กรณีผู้สูงอายุและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิง สามารถใช้บริการชุดสิทธิประโยชน์การบริการด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงโดย ต้องมีการประเมินก่อนการให้บริการและวางแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวและสาธารณสุขกรณีมีความจำเป็นต้องใช้อาหารทางการแพทย์บุคลากรสาธารณสุขหมอครอบครัวจะพิจารณาตามสภาพปัญหาของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงแต่ละราย และกลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยงในพื้นที่ สามารถใช้งบประมาณในการจัดซื้ออาหารทางการแพทย์ภายใต้โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพและรักษาพยาบาลตามปัญหาของกลุ่มประชากรในพื้นที่ได้
อนุกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้สำนักงานสภาผู้บริโภคสำรวจ และขอข้อมูลสนับสนุนเรื่อง สิทธิประโยชน์อาหารเหลวทางสายยางในองค์กรสมาชิก และเครือข่ายผู้บริโภค และให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากกลุ่มอาหารทางสายยาง และอาหารสำเร็จรูปมีราคาแพง ส่งผลต่องบประมาณของภาครัฐ รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของผู้ป่วยและกลุ่มเป้าหมายเป็นราย ๆ ไป
การติดตามสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลนเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 สภาผู้บริโภคได้หารือกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลน โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนค่าตอบแทนแพทย์โดยใช้เพดานสูงสุด รณรงค์ขจัดวัฒนธรรมการใช้อำนาจนิยมในโรงพยาบาล และขอให้ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยได้ ในการประชุมอนุกรรมการฯ ครั้งนี้เห็นชอบให้สำนักงานสภาผู้บริโภคส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลน
การพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของกองทุนประกันสังคม โดยคณะอนุกรรมการฯ รับทราบในความคืบหน้าการพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของกองทุนประกันสังคม จาก 900 บาท เป็น 1,500 บาท ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้จัดทำข่าวคัดค้าน และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำหนังสือทวงถามไปยังสำนักงานประกันสังคม หากมีประกาศหรือข่าวดังกล่าวออกมาจริง