สภาผู้บริโภคร่วมมือกับ สำนักงานเอ็ตด้า (ETDA) และตำรวจไซเบอร์ จัดเวทีอบรมเพิ่มศักยภาพเครือข่ายและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค พุ่งเป้าจัดการปัญหาเกี่ยวกับมิจฉาชีพออนไลน์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการติดอาวุธให้ผู้บริโภครู้เท่าทันกลโกง
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 สภาผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์) พัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ด้วยการจัดเสวนาในประเด็น ‘กลโกงซื้อขายออนไลน์กับกฎหมายแพลตฟอร์มที่ต้องรู้’ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค
ระบุว่า กรณีปัญหาซื้อของออนไลน์เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภค เนื่องจากคนไทยซื้อของออนไลน์มากที่สุดในโลก รวมถึงยังพบประเด็นการหลอกลวงทางออนไลน์ร่วมด้วย อาทิ การสร้างเฟซบุ๊กแฟนเพจร้านค้าปลอมที่ปัจจุบันเกิดขึ้นประมาณถึง 10,000 เพจต่อวัน หรือเพจขายของไม่มีคุณภาพหรือเพจขายของไม่ตรงปก
ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งตัวผู้บริโภคเอง ดังนั้น เบื้องต้นหากผู้บริโภครู้กฎหมายที่จะคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของการซื้อของออนไลน์ จะทำให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพมากขึ้น อาจทำให้ช่วยลดปัญหาหลอกลวงในการซื้อขายออนไลน์ลง ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอให้กับบริษัทขนส่งต่าง ๆ ถึงประเด็นการให้ผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง (Cash On Delivery : COD) สามารถเปิดดูสินค้าได้ก่อนจ่ายเงินให้กับบริการขนส่ง เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าตรงตามที่สั่งไปหรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดข้อร้องเรียนในประเด็นดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการตอบรับข้อเสนอจากบริษัทขนส่งแต่อย่างใด
ด้าน ศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า : ETDA)
กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ทั้งการสั่งสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง การไม่ได้รับสินค้าที่สั่งไป หรือได้รับสินค้าปลอม การโดนแฮกบัญชีธนาคาร หรือระบบธนาคารที่เกิดการล่มบ่อย ๆ อีกทั้งผู้บริโภคไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันท่วงทีหรือเหมาะสมเท่าที่ควร จนสร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคอย่างมาก จึงทำให้มีการออก “พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565” ขึ้น หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า กฎหมาย คุมแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นี้
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลาง เช่น โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ sharing economy บริการสืบค้น (search engine) บริการรวบรวมข่าว โฮสติ้งคลาวด์ เป็นต้น ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ดด้า นอกจากนั้น ในกฎหมายฉบับนี้ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งยังมีการกำหนดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษที่ชัดเจน อย่างเช่น โทษทางปกครองตาม ม.33 วรรคสาม, วรรคห้า และวรรคหก และโทษทางอาญาตาม ม.44 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องถอนการรับแจ้งประกอบธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีการยืนยันตัวตนและทำตาม พรฎ.คุมแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ อีกทั้งหลังจากนี้เอ็ดด้าจะจัดทำร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือและระบุตัวตนได้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและการดำเนินคดี
ส่วน พ.ต.ต.วีระพงษ์ แนวคำดี สารวัตรกลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ระบุว่า พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็น พรก. ที่จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูง โดยมีประเด็นหลัก 3 เรื่อง คือ
1. ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารระงับธุรกรรมได้ทันทีเมื่อถูกหลอกหรือสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อ ผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุหรือที่สาขาเพื่อระงับธุรกรรมชั่วคราว และแจ้งตำรวจผ่านระบบออนไลน์หรือสถานีตำรวจใกล้เคียงที่สะดวกภายใน 72 ชั่วโมง และตำรวจจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่อระงับธุรกรรมต่อ เพราะหากไม่มีการแจ้งความทางธนาคารจะระงับธุรกรรมชั่วคราวได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือหากแจ้งแล้วทางธนาคารแจ้งว่าเป็นคดีแพ่งไม่สามารถระงับบัญชีได้ แนะนำให้ผู้เสียหายกดโทร 1441 กด 2 ทางตำรวจไซเบอร์จะประสานแจ้งข้อมูลให้ต่อไป และในกรณีไม่ได้แจ้งระงับธุรกรรมสำหรับการฉ้อโกงธรรมดาจะมีอายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ทราบเรื่อง
“ในกระบวนการแจ้งความนั้นหากมีการสอบปากคำจึงนับว่าเป็นการเริ่มขบวนการสืบสวน ดังนั้นหากไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้านควรถามด้วยว่าจะเริ่มขบวนการสอบปากคำเพื่อดำเนินคดีเมื่อไหร่ และแจ้งขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ส่วนช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ จะเป็นการจองคิว เมื่อแจ้งไปแล้วจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและติดต่อกลับเพื่อนัดสอบปากคำที่สถานีตำรวจในวันและเวลาที่ผู้เสียหายสะดวก ซึ่งกระบวนการสอบสวนต้องดำเนินภายใน 3 วัน” พ.ต.ต.วีระพงษ์กล่าว
2. บทกำหนดความผิดและกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนโฆษณาหรือซื้อ/ขายก็มีความผิด ตามมาตรา 9 ระบุว่า เปิดบัญชีม้าหรือซิมม้า โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นตัวกลางในการจัดหา เป็นธุระ หรือโฆษณา เพื่อให้มีการซื้อขายบัญชี ตามมาตรา 10 หรือ 11 จะมีโทษจำคุกมากกว่าคนเปิดบัญชีม้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารที่สามารถแบ่งบันข้อมูลระหว่างกันได้โดยไม่ผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) หรือจะเป็นตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และหน่วยงานอื่นที่ได้รับอนุญาต เพื่อใช้ในการสืบสวนติดตามลงโทษผู้กระทำผิด ป้องกันและลดการเกิดบัญชีม้า ซิมม้า เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
นอกจากนี้ พ.ต.ต.วีระพงษ์ ได้แนะแนวทางการตรวจสอบเพจจากเฟซบุ๊กในเบื้องต้น โดยให้สังเกตที่ “ความโปร่งใสของเพจ”จะอยู่ที่ช่องแนะนำตัวหน้าเพจ เมื่อกดเข้าไปดูจะมีประวัติการสร้างเพจ ประวัติการเปลี่ยนชื่อ และประเทศ/ภูมิภาคหลักของผู้ที่จัดการเพจ ข้อสังเกตคือ หากเพจนั้นมีการสร้างขึ้นมาเมื่อไม่นานจะมีประวัติการเปลี่ยนชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพจในปัจจุบัน และประเทศของผู้จัดการเพจในกรณีขายของในประเทศไทย แต่มีภูมิภาคหลักของผู้ที่จัดการเพจอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ หรือเช็กที่คอมเมนต์หากมีการปิดคอมเมนต์ หรือมีการกดโกรธสามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าเป็นเพจปลอม
ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวเป็นการอบรมภาคทฤษฎีเพื่อให้เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค นำความรู้ที่ได้ในการอบรมไปใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงนำปัญหาและข้อเสนอแนะหารือนโยบายร่วมกัน และจะมีการอบรมอีกครั้งเป็นภาคปฏิบัติในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม เกี่ยวกับ ‘การรายงานแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ’ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่
- เว็บไซต์ tcc.or.th
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- เฟซบุ๊ก (Facebook) : สภาองค์กรของผู้บริโภค