เครือข่ายผู้บริโภค กทม. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ผิดหวัง หลัง “ชัชชาติ” เคาะราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 59 บาท ไม่ฟังเสียงผู้บริโภคในช่วงวิกฤตค่าครองชีพ เสนอราคา 44 บาทตลอดสาย ในช่วงที่ยังไม่หมดอายุสัมปทานปี 2572 และ ราคา 25 บาทตลอดสายหลังหมดสัมปทาน เรียกร้องยกเลิกแผนระยะสั้นในการกำหนดราคารถไฟฟ้า 59 บาท เปิดรับฟังทุกฝ่ายก่อนเคาะราคาค่าโดยสาร พร้อมเปิดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าต่อสาธารณะ
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเพดานค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวราคา 59 บาทของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และคาดหวังกับผู้ว่าฯ กทม. ในการทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงจนทำให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ชัชชาติ เคยระบุในงานเสวนาของ สอบ. เวทีว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. กับการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว และเห็นว่าการกำหนดราคาค่าโดยสาร 25 – 30 บาท มีความเป็นไปได้
ดังนั้น การกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสาย 59 บาทจึงสร้างความผิดหวังให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าโดยสารในภาวะที่น้ำมันราคาแพง และค่าครองชีพเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องแบกรับค่าโดยสารในการเดินทางไปกลับมากถึง 118 บาท ซึ่งเท่ากับเกือบร้อยละ 36 ของรายได้ขั้นต่ำ ถือว่าเป็นราคาที่สูงมากสำหรับผู้บริโภค
จึงเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม. ยกเลิกมาตรการระยะสั้น หาทางออกในการแก้ไขปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวระยาว โดยก่อนจะกำหนดราคาใหม่ควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคและหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอในเรื่องราคาดังกล่าว
“เรามีความหวังกับผู้ว่าฯ กทม.ในการแก้ไขปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ไม่อยากให้ผู้ว่าฯ มาเพิ่มปัญหาใหม่ โดยหากผู้ว่าฯ กทม. กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ไม่มองว่ารถไฟฟ้าเป็นขนส่งสาธารณะ จะทำให้การกำหนดราคาค่าโดยสารผิดพลาดไปด้วยการไม่คำนึงถึงค่าโดยสารที่ผู้บริโภคยอมรับได้” สารีกล่าว
สารี กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยการเก็บราคาค่าโดยสารส่วนต่อขยาย “คูคต-สะพานใหม่-หมอชิต” แต่ราคาค่าโดยสารตลอดสายไม่ควรเกิน 44 บาท เพราะราคาดังกล่าวไม่ได้ไปรอนสิทธิในสัญญาสัมปทานที่ยังไม่หมดอายุในปี 2572 และเป็นราคาที่สอดคล้องกับอัตราสูงสุดของรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ ในปัจจุบัน ที่กำหนดราคาสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ส่วนหลังหมดอายุสัมปทานในปี 2572 สามารถกำหนดราคาค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสายได้
ทั้งนี้ ราคาค่าโดยสาร 25 บาทสามารถทำได้จริงจากข้อมูลวิชาการของ สอบ. โดยการคำนวณราคาค่าโดยสาร จากข้อมูลต้นทุนค่าใช้จ่ายการเดินรถของกรมการขนส่งทางราง ที่กำหนดราคา 49.83 บาท แต่ สอบ.คำนวณค่าโดยสารจากรายได้ที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50 และใช้ตัวเลขต้นทุนเท่าเดิม ยังพบว่า กทม. มีกำไรจากรถไฟฟ้าได้มากกว่า 20,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากการทำงานของนักวิชาการ พบว่าต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่ 13 – 19 บาทต่อคนต่อเที่ยว ดังนั้น หากรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่มีต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วจะสามารถกำหนดราคาได้ในราคา 25 บาท
“เราขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม. ยกเลิกการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และเราพร้อมที่จะไปหารือ เพื่อหาทางออกในเรื่องของการกำหนดราคา เพื่อความเหมาะสมกับผู้บริโภคกับผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด”
ผู้บริโภค หมดหวังขึ้นค่ารถไฟฟ้าซ้ำเติมค่าใช้จ่าย
ด้านกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกตกใจหลังจากทราบว่า ผู้ว่า กทม.ฯ เคาะราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท เพราะที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ผลักดัน และติดตามการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตั้งแต่ปี 2564 ที่กรุงเทพมหานครจะขึ้นราคาค่ารถไฟฟ้า 104 บาท
ที่ผ่านมา มีการไปยื่นจดหมายชะลอปรับขึ้นราคาค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวจนสามารถหยุดราคา 104 บาทได้ จากนั้นจึงเฝ้าระวังเรื่องการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารมาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงรับไม่ได้กับการปรับราคาค่าโดยสาร 59 บาท เพราะเราคาดหวังกับกับผู้ว่าฯ กทม. ที่จะทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง เนื่องจากขณะนี้มีค่าครองชีพในไทยและปัญหาราคาน้ำมันเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ยังมีความหวังว่าผู้ว่าฯ กทม. จะทบทวนและอย่าเพิ่งขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า และหามาตรการในการส่งเสริมคนใช้รถสาธารณะมากขึ้น
ขณะที่วรวรรณ ทัพกระจาย ตัวแทนผู้บริโภคกรุงเทพฯ บอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจมีความย่ำแย่อยู่แล้ว ค่าครองชีพเพิ่มมากขึ้น รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกัน และต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม. รับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ต้องต่อสู้กับเศรษฐกิจ และมีความคิดเห็นว่าการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 59 บาท ยังแพงเกินไปสำหรับคนรายได้น้อย
“บ้านดิฉันอยู่พุทธมณฑลสาย 3 ต้องเดินทางเข้าเมือง ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์เพื่อไปต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือถ้าไม่ได้นั่งวินฯ ก็ไปนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้วก็มากกว่า 100 บาทต่อเที่ยว เดินทางไปกลับเกือบ 200 บาท อยากให้ฟังเสียงผู้บริโภคอย่างเรา และฝากความหวังกับผู้ว่าฯ กทม. ช่วยทบทวนราคาค่าโดยสารที่จะปรับเพิ่ม เพราะตอนนี้ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงมากอยู่แล้ว” วรวรรณ กล่าว
ด้านสมชาย กระจ่างแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่ารถไฟฟ้าเป็นเพียงทางเลือกของการเดินทาง แต่ให้มองเป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะคิดว่ารถไฟฟ้าสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงเพื่อให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถขึ้นได้ ดังนั้น ราคา 59 บาทก็ยังแพงเกินไป แต่ในอนาคตต้องการให้การบริการรถสาธารณะเป็นรัฐสวัสดิการทำให้ราคาถูก หรือฟรี
สอบ. จี้ชัชชาติเลิกแผนระยะสั้นขึ้นค่าโดยสาร
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ สอบ.เสนอให้กำหนด ราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพและทำให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มรายได้สามารถใช้บริการได้ โดย
1) ระหว่างที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบริษัท บีทีเอสในปี 2572 ควรกำหนดราคาค่าโดยสารไม่เกิน 44 บาท รวมส่วนต่อขยายจากหมอชิต – คูคต และอ่อนนุช – เคหะสมุทรปราการ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราสูงสุดของรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ ในปัจจุบัน ที่กำหนดราคาสูงสุดไม่เกิน 42 บาท และราคาดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิของสัญญาสัมปทานของบริษัท บีทีเอส
2) เพื่อความโปร่งใส สอบ. เสนอให้ผู้ว่าฯกทม. พิจารณาราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในราคา 44 บาทก่อนหมดสัมปทานปี 2572 และราคา 25 บาทตลอดสายหลังจากหมดอายุสัมปทาน ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมที่ประชาชนทุกคนใช้รถไฟฟ้าได้ทุกวัน
3) สอบ.ต้องการเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อประชาชนรับรู้ และร่วมกันหาทางออก เพื่อสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง