สภาผู้บริโภค แนะรัฐทบทวน – กำกับดูแลมาตรการ การใช้ ‘สารกัมมันตรังสี’ ในไทยอย่างเข้มงวด ป้องกันซ้ำรอย ‘ซีเซียม – 137’ พร้อมชี้จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงเหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’ หายไปและถูกพบปนเปื้อนในฝุ่นโลหะของโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี ว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทบทวนระบบการทำงานของภาครัฐในการใช้สารกัมมันตรังสีใหม่เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก โดยจำเป็นต้องแยกบทบาทหน่วยงานกำกับดูแลออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ บทบาทภาครัฐในการออกหรือเพิกถอนใบอนุญาต และอีกบทบาทคือการกำกับดูแลผู้ประกอบการ (Supervisory Authority) ที่ใช้สารกัมมันตรังสีเพื่อทำให้ระบบการใช้สารกัมมันตรังสีในประเทศรัดกุมมากขึ้น
แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าไทยมีเพียงหน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่ส่วนนี้ ขณะที่ในต่างประเทศอย่างเยอรมนีจะแยกบทบาทออกมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจกัน
หากไทยมีนโยบายการใช้สารกัมมันตรังสี จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้คนไทยว่าจะต้องมีการกำกับดูแลขั้นตอนการนำเข้า การขนส่ง การกักเก็บ การใช้งาน และการกำจัดขยะของสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะประเด็นของการ มีที่กักเก็บ เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว เป็นอย่างดี ไม่มีการหลุดรอดออกมา กรณีของประเทศเยอรมนีจะมีการใช้ตัวบังเกอร์ที่รัฐกำหนดสำหรับกักเก็บสารกัมมันตรังสีไว้อย่างเดียว เนื่องจากว่าอายุของสารเหล่านี้มีอายุที่ยาวและมีอันตราย จึงจำเป็นต้องเก็บไว้ไม่ให้รั่วไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่าไทยมีที่เก็บสารกัมมันตรังสีที่ปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงจำเป็นต้องจัดตั้งแผนรับมือและแผนการสื่อสารเมื่อเกิดภัยพิบัติในลักษณะนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน
อย่างไรก็ตามในขณะนี้เกิดความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงานที่เกิดเหตุ จึงเห็นอีกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นภาครัฐจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการให้ข้อมูลกับประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงานเกิดเหตุ เพราะเขาจะได้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ เห็นว่านโยบายการให้ข้อมูลของภาครัฐในปัจจุบันค่อนข้างที่จะมีการปกปิดและทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องใช้ระยะเวลาในการกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยต้องมีการทบทวนระบบการทำงาน
ตลอดจนการจัดทำแผนรับมือกับภัยพิบัติจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี มีการฝึกซ้อมการใช้แผนและการกำกับดูแลไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะการที่สารกัมมันตรังสีรั่วไหลนั้นเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถควบคุมได้สามารถขยายความเสียหายได้เป็นวงกว้าง