เกาะติดมาตรการแสดงตัวตนแพลตฟอร์มและผู้ค้าทางออนไลน์ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการติดตามความรับผิดชอบของผู้ขายเมื่อเกิดความเสียหาย
ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ครั้งที่ 3/2567 เดือนมีนาคม 2567 มีการพิจารณามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าบริการทางออนไลน์ ในประเด็นแนวทางการให้ผู้ค้าออนไลน์แสดงตัวตน โดยได้เชิญผู้แทนจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เข้าให้ข้อมูล ซึ่งผู้แทนจากกรมการค้าภาย เห็นด้วยกับนโยบายการให้แสดงตัวตนผู้ขายสินค้าทางออนไลน์ ในฐานะผู้ตรวจสอบการค้าออนไลน์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เพราะช่วยสนับสนุนให้การตรวจสอบ การดำเนินคดี และค้นหาตัวตนผู้ขายของเจ้าหน้าที่ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในจะดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการกระทำความผิดในการขายสินค้าออนไลน์เกี่ยวกับราคาสินค้า เช่น การไม่แสดงราคา และการขายสินค้าราคาแพงที่ได้รับร้องเรียน หรือการไม่แสดงข้อมูลตัวตนของผู้ขาย
ส่วนผู้แทนจาก สพธอ. ได้ให้ข้อมูลถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.ฎ. Digital ID ทั้งนี้การยืนยันตัวตน และเครื่องหมายที่ สพธอ. รับผิดชอบ คือ การให้บริการแพลตฟอร์มต้องมาแจ้งการประกอบธุรกิจต่อ สพธอ. ซึ่งต้องแจ้ง ชื่อบริการ ชื่อบริษัท ประเภทบริการธุรกิจ ผู้ประสานงาน ช่องทางการติดต่อ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เมื่อแจ้งแล้วแพลตฟอร์มจะได้รับใบรับแจ้งหรือที่เรียกว่า ใบรับแจ้งการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม และเครื่องหมาย ETDA DPS Notified ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 จะกำหนดให้ สพธอ. กำกับดูแลเฉพาะแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงร้านค้าบนแพลตฟอร์ม จะเป็นการกำกับดูแลผ่านแพลตฟอร์มแทน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีมาตรการที่ให้ผู้ค้าทางออนไลน์แสดงตัวตนกับผู้ซื้อสินค้าเพื่อสร้างมั่นใจในการซื้อขายสินหรือบริการทางออนไลน์ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์มีการออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Verified) 3 ระดับ คือ ระดับดี (Silver) ระดับดีมาก (Gold) และระดับดีเด่น (Platinum) และในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีการให้ขึ้นทะเบียนการตลาดแบบตรง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท และ สพธอ. มีการออกเครื่องหมายรับแจ้ง ETDA DPS Notified และอยู่ระหว่างพิจารณาการออกเครื่องหมายรับรอง ETDA DPS Certified
ส่วนเครื่องหมายแสดงการรับรองจากแพลตฟอร์มของเอกชน เช่น Laz Mall ของแพลตฟอร์มลาซาด้า หรือ Shopee Mall ของแพลตฟอร์มชอปปี้มีความแตกต่างจากร้านค้าทางการ (Official Mall) แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาที่ผู้บริโภคมักถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางที่ไม่มีตัวกลางในการถือเงินไว้ก่อน อาทิ การสั่งซื้อผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ หรือใน X (หรือทวิตเตอร์) และเมื่อไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ตรงปก อาจทำให้การขอคืนสินค้าหรือการขอเงินคืนเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่มีข้อมูลในการติดตามตัวร้านค้าหรือผู้ขาย