องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ หนุนสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เสนอ อย. ออกมาตรการควบคุมให้มีการแสดงฉลาก GMOs หวั่นหลังรัฐบาลร่วม CPTPP จะไม่สามารถคุมอาหาร GMOs ได้
28 กรกฎาคม 2564 สอบ.จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “ผลกระทบ CPTPP กับผู้บริโภคต่อการกำกับดูแลอาหาร GMOs” เพื่อทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรสมาชิกและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศจำนวน 94 องค์กร ต่อแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องอาหารที่มีส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งเกี่ยวพันกับนโยบายการเข้าร่วมการเจรจา ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของรัฐบาลไทย
ผลสรุปจากงานเสวนา องค์กรสมาชิกและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศมีข้อตกลงร่วมกันว่า สอบ.จะทำข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ที่มีส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ให้รีบดำเนินการออกมาตรการควบคุมการแสดงฉลากอาหาร GMOs ที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศผลิตอาหารที่ไม่ใช้วัตถุดิบ GMOs
เนื่องจากกังวลว่าหากรัฐบาลเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ไปแล้ว จะไม่สามารถหรือดำเนินการควบคุมได้ในภายหลัง เนื่องจากติดเงื่อนไข CPTPP ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากการรับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น
ข้อเสนอของ สอบ. ต่อ อย. มีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
1. เสนอให้ อย. ออกมาตรการควบคุมให้แสดงฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบของ GMOs ให้ครอบคลุมอาหารทุกประเภท เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่ระบุว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ สิทธิที่เลือกซื้อสินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริง และปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมถึงสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ
2. ออกมาตรการควบคุมให้มีการแสดงฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบของ GMOs ไม่ว่าจะมีส่วนประกอบในปริมาณเท่าใดก็ตาม และหากมีส่วนประกอบของ GMOs มากกว่าหนึ่งชนิดก็ต้องแสดงข้อมูลส่วนประกอบนั้นทุกชนิดในฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารนั้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพที่เป็นมิตรและมีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
3. เสนอให้ระบุในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ให้มีการแสดงฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบของ GMOs โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ ให้แสดงสัญลักษณ์เตือนว่าอาหารดังกล่าวมีส่วนผสมของ GMOs อยู่ โดยต้องใช้ข้อความตัวอักษรหนาและอ่านได้ชัดเจน ตัวอักษรตัดกับสีพื้นของฉลาก มีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก และต้องแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมพื้นสีเหลืองตัวอักษรสีดำ โดยมีข้อความว่า “GMO” บนฉลาก ส่วนด้านหลังบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ ต้องแสดงข้อมูลส่วนประกอบของส่วนผสมที่มี GMOs ทุกชนิด ไม่ว่าปริมาณส่วนประกอบ GMOs นั้นจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
4. กรณีที่อาหารนั้นไม่มีส่วนประกอบของ GMOs เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีวัตถุดิบ GMOs ในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เสนอให้ อย. อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถแสดงข้อความ หรือสัญลักษณ์ “Non GMOs” ได้ รวมทั้งเสนอให้กำหนดมาตรการลงโทษหากมีการตรวจแล้วไม่เป็นไปตามที่ฉลากแสดงกล่าวอ้างไว้