ระวัง!! ซื้อของออนไลน์ผ่าน ‘GinzaMall’ อาจสูญเงินฟรี

เตือนภัย : ซื้อของออนไลน์ต้องระวัง แอปพลิเคชัน ‘GinzaMall’ สั่งของไม่ได้ของ

“ป้ายยาเตือน App Ginzamall ที่ขายมือถือถูก ๆ รีวิวหลายร้อย นี่อย่าไปเชื่อนะครับ ตอนนี้แอปฯ ยิงแอดไปทั่ว กลัวคนไม่รู้ พลาดไปซื้อตามเงินคืนไม่ได้นะครับ”

“Ginzamall ไหมล่ะ มีคนหลังไมค์มาถามบ่อยนะแอปฯ นี้ ยืนยันว่าของถูกและดีมันมีอยู่จริงนะ แต่ถูกเกินไปแบบ Iphone 13 ราคา 14K งี้ มันเป็นไปไม่ได้”

“สงสัยอยู่มากครับ ตัวแอปฯ ก็แปลก ๆ ตัวภาษา ของเอามาลดราคาถูกมาก และที่สำคัญแอปฯ นี้มีแค่ใน Google Play Store เท่านั้น App Store ใน IOS ไม่มีด้วย”

“มีใครจ่ายตังค์ แล้วได้ของบ้างไหมคะ เห็นเเก่ความถูกจนเผลอโอนตังค์ เป็นบัญชี ปวีณา ทองศรี”

“ใครกำลังจะสั่งของในแอปฯ Ginzamall คือหยุดเลยนะครับ ***เตือนแล้วนะ***” …. นี่คือเสียงบางส่วนจากผู้ใช้แอปฯ ‘GinzaMall’ ที่กำลังช่วยกันเตือนภัยนักชอปบนโลกออนไลน์ ว่าแอปฯ ซื้อขายสินค้าตัวนี้ ‘น่าสงสัย และต้องระมัดระวัง’

น่าสงสัยอย่างไร?

ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้รับคำร้องเรียนจำนวนมากว่า ผู้บริโภคหลายรายไปซื้อสินค้าจากแอปฯ นี้แล้วไม่ได้ของ จึงเตือนภัยให้ผู้ซื้อสินค้าตั้งข้อสังเกตอย่างแรกเลย คือ ตัวแอปฯ ให้ดาวน์โหลดผ่าน Google Play Store บนระบบแอนดรอยด์เท่านั้น และแม้ลักษณะหน้าตาจะเหมือนแอปฯ ซื้อขายออนไลน์ทั่วไป แต่ก่อนที่จะดาวน์โหลดจะมีตัวอย่างหน้าตาของแอปฯ ให้เราดูก่อน จะเห็นว่าตัวหนังสือที่แอปฯ นำมาใช้ดูไม่น่าเชื่อถือ ตัวหนังสือทับกันจนอ่านไม่ออกก็มี

ขณะเดียวกัน สินค้าที่วางขายในแอปฯ มีราคาถูกกว่าปกติค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น มือถือยี่ห้อหนึ่งที่ปกติขายในราคา 5,999 บาท แต่ลดราคาลงเหลือเพียง 3,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคต้องการชำระเงินแบบให้เก็บเงินปลายทาง จะเรียกเก็บเงินก่อน 30% ของสินค้าอีกด้วย

ขณะนี้ มีผู้บริโภคหลายรายที่สั่งซื้อสินค้าจากแอปฯ ดังกล่าวและไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งไป เมื่อทำเรื่องขอคืนเงินกลับไม่ได้รับเงินคืน และยังไม่มีการติดต่อมาหาผู้บริโภคอีกด้วย

เบื้องต้น แนะนำให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกหรือถูกโกงจากการซื้อของออนไลน์ ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดไม่รับแจ้งความ จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนปัญหานี้ไปที่เบอร์โทรศัพท์ 02 205 3468 หรือร้องเรียนกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้

หากพบว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่ถูกโกง และมีผู้เสียหายมากกว่า 50 คนขึ้นไป ให้รวมตัวกันแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้อีกทาง หรือหากต้องการฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ด้วยตัวเอง ผู้บริโภคสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อฟ้องคดีผ่านเว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/eFiling หรือ เว็บไซต์ศาลแพ่ง ได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งการฟ้องคดีออนไลน์ด้วยตัวเองนี้จะลดขั้นตอนในการเดินทางไปศาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง และค่าทนาย รวมถึงยังติดตามความคืบหน้าของคดีได้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนกับ สอบ. หรือหน่วยงานประจำจังหวัดของ สอบ. หรือองค์กรสมาชิกของ สอบ.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าใด ๆ ก็ตาม ผู้บริโภคอย่าลืมตรวจสอบร้านค้าก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง โดยวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้าสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การดูความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของร้านค้า อย่างมีรีวิวสินค้าไหม ความคิดเห็นของลูกค้าหลังจากซื้อสินค้า (Feedback) การตอบกลับจากร้านค้าเป็นอย่างไร ดูแฟนเพจ หรือหน้าขายสินค้าของร้านค้าว่ามีคนกดถูกใจ หรือมีคนกดโกรธหรือไม่ คะแนนที่ให้ร้านค้าเป็นอย่างไร รวมถึงวันที่อัปเดตของร้านค้าล่าสุดด้วย

จากนั้นนำชื่อร้านค้า ช่องทางการติดต่อของร้านค้า หรือชื่อบัญชีที่ให้โอนเงินไปค้นหาในกูเกิล หรือเว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ หรือ blacklistseller.com เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบว่าร้านค้ามีประวัติการโกง หรืออยู่ในรายชื่อผู้ขายที่ต้องระวังหรือไม่ หากทราบชื่อเจ้าของร้าน ให้ตรวจสอบว่าเป็นชื่อบัญชีเดียวกันหรือไม่ เพราะจะทำให้ตามตัวผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่เกิดปัญหา

นอกจากนี้ สามารถตรวจสอบว่าร้านค้าที่เรากำลังตัดสินใจซื้อ จดทะเบียนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการจดทะเบียนการค้าออนไลน์ และได้รับเครื่องหมาย DBD Register แล้วหรือไม่ ซึ่งการจดทะเบียนดังกล่าวช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ร้านดังกล่าวเป็นร้านที่มีตัวตนจริง แต่หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วร้านค้าไม่รับผิดชอบ ผู้บริโภคก็สามารถแจ้งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ตรวจสอบและจัดการกับร้านค้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากหน่วยงานมีข้อมูลของร้านค้าที่จดทะเบียนอยู่แล้ว ผู้บริโภคจึงมีโอกาสที่จะได้เงินคืนสูง

ทั้งนี้ กรณีของแอปฯ ดังกล่าวที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ตก็จะต้องจดทะเบียนการค้าออนไลน์ด้วยเช่นกัน ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2553

วิธีตรวจสอบร้านค้าที่ได้รับการรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ https://www.trustmarkthai.com และเลือกหัวข้อ ‘ค้นหาเครื่องหมาย’ จากนั้นเลือกประเภทการค้นหา และคัดลอกชื่อ หรือลิงก์ของร้านค้าไปวางแล้วกดเริ่มค้นหา ตัวอย่างเช่น ร้านค้าที่เป็นเฟซบุ๊กแฟนเพจ ให้นำชื่อร้านที่อยู่หลัง facebook.com/ ไปค้นหาแทน เช่น https://www.facebook.com/ร้านค้าสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้เราเลือกนำคำว่า ‘ร้านค้าสภาองค์กรของผู้บริโภค’ ไปใส่ในช่อง [ชื่อเว็บไซต์] แล้วกดค้นหา หากร้านค้านั้น ๆ ผ่านการรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็จะมีชื่อปรากฏขึ้นบนหน้าเว็บของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคสามารถร่วมด้วยช่วยกันกดรายงาน (Report) ​แอปฯ ดังกล่าวได้ แต่เสียงจากโลกออนไลน์ก็สะท้อนมาว่าหลายคนช่วยกันรายงานแอปฯ ไปแล้ว แต่ตัวแอปฯ ยังอยู่ แถมยังสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ดังนั้น จึงเห็นว่า ผู้ให้บริการอย่างกูเกิล เพลย์สโตร์ (Google Playstore) ที่อนุญาตให้แอปฯ ดังกล่าวอยู่บนช่องทางของตัวเองควรลบแอปฯ ออกจากระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครดาวน์โหลดได้อีกต่อไป ทั้งยังจะลดจำนวนของผู้เสียหายลงได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้การตรวจสอบแอปฯ ก่อนที่จะอนุญาตให้แอปฯ เข้าสู่ระบบ เป็นขั้นตอนแรกที่ผู้ให้บริการทุกรายต้องทำให้รอบด้าน ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อลดจำนวนแอปฯ ปลอม ที่จะเข้าสู่ระบบของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สอบ.ประสานงานไปยัง บช.สอท. ให้อายัดบัญชีของผู้ขายที่พึงระวังที่รับโอนเงินจากผู้เสียหายในแอปฯ ดังกล่าว อีกทั้งจะทำหนังสือถึงกูเกิล (Google) ขอให้ระงับแอปฯ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://bit.ly/3uwnhy1, https://bit.ly/3DeDdZC, https://bit.ly/3wLuInG

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค