รู้จักค่า Ft ตัวการทำให้ผู้บริโภคเจอค่าไฟแพง

ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเรียกกันว่า “ค่าเอฟที” กำลังถูกตั้งประเด็นว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ประชาชนต้องแบกภาระอย่างสาหัส เนื่องจากค่าเอฟทีที่เคยนำมาหักออกจากค่าไฟฟ้า ได้ถูกนำมาบวกเพิ่มในบิลค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ติดลบอยู่ที่ -15.32 สตางค์/หน่วย เป็น 93.43 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าช่วงหน้าร้อนนี้พุ่งพรวดอย่างน่าตกใจ แม้ว่าหลักการการคำนวณค่าเอฟทีได้ถูกอ้างว่าเป็นการเฉลี่ยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้ เพื่อความเป็นธรรมในการคิดค่าไฟฟ้าต่อประชาชน

แต่จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) พบว่า ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงอาจไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนใช้ไฟฟ้าเพิ่มเพื่อดับร้อนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะได้มีการคำนวณค่าเอฟทีจากการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร และมีการรวมต้นทุนที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ต้องแบกภาระในบิลค่าไฟฟ้า

ค่าเอฟทีมาจากไหน ?

ในบิลค่าไฟฟ้า จะมีรายการรายการหนึ่งที่เรียกว่า “ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือที่เรียกกันว่า ค่าเอฟที (Ft ย่อมาจาก Fuel Adjustment Charge – at the given time) หรือ สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ที่บวกเข้าไปกับค่าไฟฟ้าฐาน หรือจำนวนหน่วยที่ประชาชนใช้ต่อครัวเรือนรายเดือน ซึ่งค่าเอฟทีจะถูกนำมาบวกเพิ่ม หรือลดจากค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคใช้ไปในแต่ละเดือน หรือในบางครั้งก็จะนำไปลบจากค่าไฟฟ้าฐาน

เนื่องจากค่าเอฟทีเป็นการคิดจากต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตควบคุมไม่ได้ เช่น ค่าเชื้อเพลิงขึ้นลงตามภาวะตลาด ถ้าเปรียบก็เหมือนกับร้านอาหารที่จะบวกราคาอาหารเพิ่ม หรือลดราคาอาหารในแต่ละวันตามราคาขึ้นลงของผัก หรือเนื้อในตลาดสด

สิ่งที่แตกต่างคือ การคำนวณค่าเอฟทีเป็นการคำนวณล่วงหน้า ไม่ใช่การคำนวณจากราคาต้นทุนในปัจจุบัน และนำราคานั้นมากำหนดเป็นค่าเอฟทีเพื่อใช้ในช่วงเวลา 4 เดือน และจะปรับใหม่ทุก ๆ 4 เดือน โดยเอาราคาปัจจุบันร่วมคำนวณ ถ้ามีการคิดค่าเอฟทีมากเกินไป ก็จะได้ตัวเลขที่นำมาลดค่าไฟฟ้าลง ซึ่งการคำนวณนี้จะพิจารณาโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ค่าเอฟทีพุ่งตั้งแต่ปี 64 ยังไม่หยุดขึ้น

ในช่วงปี 2564 ค่าเอฟทีมีสถานะเป็นลบอยู่ที่ -15.32 สตางค์/หน่วย ซึ่งหมายถึงค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ประชาชนใช้ จะได้ลดราคาลง 15.32 สตางค์ต่อหนึ่งหน่วย หลังจากนั้น ค่าเอฟทีถูกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นตัวบวก โดยในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 ค่าเอฟทีขยับขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย นั่นหมายความว่า นับจากปลายปี 2564 ค่าเอฟทีถูกปรับขึ้นมาแล้วถึง 1.0875 บาทต่อหน่วย

ส่วนการคิดค่าเอฟทีของเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่ผ่านมา มีการแยกคิดค่าเอฟที เป็น 2 กลุ่ม คือ ค่าเอฟทีของบ้านอยู่อาศัยทำได้เพียงแค่อยู่ที่เท่าเดิมคือ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าในประเภทอื่น ๆ ค่าเอฟทีสูงถึง 154.92 สตางค์ต่อหน่วย
แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้มีการขยายมาถึงค่าเอฟที ในงวดต่อมา จึงส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ จ่ายค่าเอฟทีในอัตราเดียวกัน

และในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 กกพ. มีมติกำหนดค่าเอฟทีลงมาอยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีบ้านอยู่อาศัยลดลง 2.24 สตางค์ต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ประเภทอื่น ๆ ค่าเอฟทีจะลดลง 63.73 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับลดลงจาก 4.72 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังถือเป็นค่าเอฟทีที่สูงมากนับแต่ปี 2559 หลังจากที่มีการนำค่าเอฟทีไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานในปลายปี 2558

ต้นทุนค่าเอฟทีอยู่ตรงไหน ทำไมแพง

การคำนวณค่าเอฟทีได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มมีการนำมาใช้ในปี 2535 ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดว่าเป็นการคำนวณจากการคาดการณ์จากต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และการซื้อไฟฟ้า เท่านั้น อย่างไรก็ตามการกำหนดค่าเอฟทียังเป็นการคำนวณจากการคาดการณ์ในอนาคตว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และค่าซื้อไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ลดลงหรือเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจถือได้ว่าไม่เป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเนื่องจากเป็นการคำนวณก่อนล่วงหน้าถึง 3 เดือนทำให้มีโอกาสที่จะคำนวณคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ เนื่องจากสถานการณ์พลังงานโลกมีปัจจัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ราคาก๊าซธรรมชาติลด แต่ค่าเอฟทีกลับเพิ่ม

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีสัดส่วนใช้ในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 53 ดังนั้น ราคาของก๊าซธรรมชาติจึงมีอิทธิพลต่อค่าไฟฟ้าเป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งหากมีการประมาณการราคาในอนาคตไว้สูงเกินจริง แล้วนำมาคำนวณค่าเอฟที ผู้ใช้ไฟฟ้าก็ต้องแบกรับภาระนั้น

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การคำนวณค่าเชื้อเพลิงในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 มีการคาดการณ์ว่าราคาก๊าซธรรมชาติ LNG ตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปถึง 1,300 – 1,400 บาทต่อล้านบีทียู และคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะสูงถึง 90 – 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ความเป็นจริงราคาก๊าซธรรมชาติ LNG ได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องหลังจากเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 600 บาทต่อล้านบีทียูในเดือนมีนาคม 2566 และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น

เมื่อการคาดการณ์ราคาค่าเชื้อเพลิงที่คลาดเคลื่อนสูงเกินจริงไปมากกว่าเท่าตัว จึงทำให้ค่าเอฟที ในรอบ 4 เดือนดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นทันที แม้จะมีการลดทอนคำนวณค่าเอฟทีคืนให้ผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ต้องรอระยะเวลาการคิดคำนวณใหม่ในรอบ 4 เดือนถัดไป สร้างความไม่มั่นใจในระบบการคำนวณดังกล่าวว่าได้คืนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ เนื่องจากการคำนวณค่าเอฟทีแต่ละครั้งอาจจะมีการนำเอาปัจจัยอื่น ๆ ทำให้การไม่คืนค่าเอฟทีให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดถัดไปได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

มาตรการช่วยเหลือค่าไฟกลุ่มเปราะบางของรัฐบาล ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

แม้ในช่วงที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่วนลดอัตราค่าเอฟทีให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม เป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่พฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ในวงเงิน 1,724.90 ล้านบาท และต่อมาได้เพิ่มความช่วยเหลือไปยังกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนระยะเวลา 4 เดือน (เดือนกันยายน – ธันวาคม 2565) วงเงินประมาณ 9,128.41 ล้านบาท แต่กลุ่มเปราะบางไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไปเมื่ออากาศหน้าร้อนในเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 ค่าใช้ไฟฟ้ากระโดดขึ้นกว่าเท่าตัวทำให้แทบทุกกลุ่มในสังคมได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

คิดใหม่ ทำใหม่ ลดค่าไฟให้ประชาชน

สภาผู้บริโภคเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าเอฟทีโดดสูง โดยให้มีการทบทวนสูตรการปรับค่าเอฟที ที่ใช้วิธีคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ใช้เป็นค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือนนั้น ให้เปลี่ยนไปคำนวณจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงของ 4 เดือนที่ผ่านมาแทน คือ ไม่ใช้การคาดการณ์ในอนาคต แต่ใช้ตัวเลขต้นทุนจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและย้อนไปสี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่แท้จริงและเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยังคงผลักดันให้เกิดการพึ่งตนเองด้านพลังงานด้วยการให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาควบคู่กับการใช้ระบบมิเตอร์หักลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) ที่ทำให้ทุกครัวเรือนที่มีหลังคาของตนเองสามารถ ผลิต ใช้ และฝากหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ไว้กับการไฟฟ้าได้หลังจากเหลือใช้ในตอนกลางวัน ซึ่งในการนี้รัฐบาลควรให้แรงจูงใจสถาบันการเงินให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ที่ประสงค์จะติดหลังคาโซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กระทบต่อค่าเอฟทีในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน ที่ผู้บริโภคสามารถติดตามอ่านใน “#รู้เท่าทันค่าไฟฟ้า”

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค