ค้านเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม ชี้ขัดต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ

สภาผู้บริโภคเรียกร้องทบทวนประกาศรับรอง “เทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม” ชี้ขัดต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ เสี่ยงกระทบระบบนิเวศ เกษตรอินทรีย์ และผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวง เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567” เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อเกษตรกรทั่วไป เกษตรอินทรีย์ ความเสียหายต่อระบบนิเวศ และอาจนำไปสู่การผูกขาดจากการจดสิทธิบัตร ซึ่งในอนาคตผู้บริโภคอาจเสี่ยงกินอาหารที่ไม่ปลอดภัย หรือได้รับสารอาหารที่มีสิ่งปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตราย ประกอบกับประกาศฉบับดังกล่าวยังขัดแย้งกับพิธีสารคาร์ตาเฮน่า (Cartagena protocol on biosafety)* อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน และขาดการประเมินอย่างรอบด้านอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุว่า เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง แต่ตามนิยามของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ กลับระบุว่า สิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organism) หรือ LMO ดังนั้น GEd จึงจัดเป็นพันธุวิศวกรรม ไม่ใช่การปรับปรุงพันธุ์ทั่วไป ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของยีนในสิ่งมีชีวิต ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลควรยึดแนวทางในการควบคุม กำกับ หรือสนับสนุน ตามวัตถุประสงค์ของพิธีสารคาร์ตาเฮนา เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและเพื่อมั่นใจว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ขอให้มีการทบทวนและเพิกถอนประกาศฉบับนี้ของประกาศกระทรวงเกษตร ดังนี้

1. นิยามในประกาศขัดแย้งกับพิธีสารคาร์ตาเฮน่าและไม่เป็นกลางทางวิชาการ

พิธีสารคาร์ตาเฮน่า นิยามว่าสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ แต่ประกาศกระทรวงเกษตรฯ ให้นิยามต่างออกไป โดยระบุว่า สิ่งมีชีวิตที่มีการปรับปรุงพันธุ์เช่นเดียวกับการกลายพันธุ์หรือการเกิดลูกผสมนั้น ซึ่งไม่เป็นสากลและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด อีกทั้งยังขาดการพิจารณาความเสี่ยงของการดัดแปลงพันธุกรรมอย่างรอบด้าน

2. กล่าวอ้างถึงความปลอดภัยในการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการประเมินความเสี่ยง

ประกาศฉบับนี้เปิดทางให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ปรับแต่งจีโนมในภาคเกษตรไทย โดยไม่มีมาตรการรองรับที่รัดกุม และอนุญาตให้ขยายพันธุ์หรือปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงก่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจที่ไม่อาจย้อนกลับได้ อีกทั้งนิยาม “สิ่งมีชีวิต” ที่ตีความได้กว้างถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางภาคเกษตร อาจครอบคลุมไปถึงพืชป่า ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว

3. ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม

แม้นิยามในประกาศฯ จะระบุว่า เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมมีความจำเพาะและแม่นยำ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีข้อผิดพลาดได้ เช่น กรณีการพลาดเป้าไปตัดจีโนมตำแหน่งที่ไม่ต้องการจนก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ที่ไม่พึงประสงค์ได้ แม้อาจไม่แสดงลักษณะกลายพันธุ์ออกมาทันที แต่อาจไปปรากฏในรุ่นถัด ๆ ไป หลังการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

4. ขาดความพร้อมในการตรวจสอบและระบุสิ่งมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม

ด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิคของห้องปฏิบัติการในปัจจุบันที่แม้กระทั่งในสหภาพยุโรป ยังพบข้อจำกัดในการพัฒนาและการรับรองวิธีการตรวจสอบเฉพาะที่เชื่อถือได้สำหรับการดัดแปลงทางพันธุกรรมประเภทต่าง ๆ ในพืชที่ได้จากการกลายพันธุ์แบบกำหนดเป้าหมายหรือการดัดแปลงยีนภายในพืช

5. ระบบเกษตรอินทรีย์ไม่ยอมรับสิ่งมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรม

กรณีนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องการใช้สิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมในภาคเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ดังนั้น หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่สามารถกำกับสิ่งมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมได้อย่างรัดกุม จะเป็นการทำลายระบบเกษตรอินทรีย์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อได้ติดตามการดำเนินการในสหภาพยุโรป ซึ่งมีการผ่อนปรนการควบคุมพืชแก้ไขยีน (NGT1) แต่ยังมีเงื่อนไขสำคัญระบุไว้ เช่น การติดฉลาก, กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ, การห้ามใช้ในเกษตรอินทรีย์, และการห้ามจดสิทธิบัตร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แต่เงื่อนไขเหล่านี้กลับไม่ปรากฏในประกาศกระทรวงเกษตรฯ ของไทย ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงขอให้มีการทบทวนและเพิกถอนประกาศดังกล่าวโดยเร็วเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

——————————————-

*พิธีสารคาตาเฮน่า หรือ (Cartagena protocol on biosafety) มีการกำหนดระเบียบวิธีการที่เหมาะสมในกการขนย้าย การควบคุมดูแล และการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs) ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ พิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ ได้รับการรับรอง และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2546